๓๒๕. คนตายทั้งเป็น ๕ จำพวก
ชีวนฺตาปิ มตา ปญฺจ, พฺยาเสน ปริกิตฺติตา;
ทุกฺขิโต พฺยาธิติ มูฬฺโห, อิณวา นิจฺจเสวโกฯ
"คน ๕ พวกแม้มีชีวิตก็ดุจคนตายแล้ว คือ
๑. คนถูกความฉิบหายครอบงำ
๒. คนมีทุกข์ปางตาย
๓. คนหลงเพราะความเจ็บไข้
๔. คนมีหนี้ท่วมตัว และ
๕. คนที่ต้องรับใช้เขาเป็นนิจ
(กวิทปฺปณนีติ ๓๒๕, โลกนีติ ๑๔๑, ธมฺมนีติ ๓๒๙)
..
ศัพท์น่ารู้ :
ชีวนฺตาปิ (แม้มีชีวิตอยู่) ชีวนฺตา+อปิ, ชีว+อ+อนฺต > ชีวนฺต+โย
มตา (ตายแล้ว) มร+ต > มต+โย
ปญฺจ (ห้า) ปญฺจ+โย หลังสังขยาสัพพนามให้ลบ โย วิภัตติ
พฺยาเสน (ความฉิบหาย, ความวอดวาย, โชคร้าย) พฺยสน+นา, ป. ในบางแห่งใช้เป็น พฺยสน
ปริกิตฺติตา (ประกาศ, ชี้แจง, สรรเสริญแล้ว) ปริ+กิตฺต+อิ+ต > ปริกิตฺติต+โย
ทุกฺขิโต (ความทุกข์ครอบงำ) ทุกฺขิต+สิ
พฺยาธิติ มูฬฺโห (หลงเพราะความเจ็บป่วย) พฺยาธิติมูฬฺห+สิ (น่าจะเป็น พฺยาธิโต มูฬฺโห อย่างในโลกนีติ สมควรกว่า)
อิณวา (คนเป็นหนี้, คนมีหนี้) อิณวนฺตุ+สิ
นิจฺจเสวโก (ข้าราชสำนักประจำ, คนรับใช้ประจำ, ลูกจ้างประจำ) นิจฺจเสวก+สิ, นิจฺจ (ประจำ, เสมอ, เป็นนิจ), เสวก ๑ ป. ข้าราชสำนัก; ๒. ค. ผู้คบ, ผู้เสพ, ผู้รักใช้
..
ขอนำคาถาเดียวกันนี้ในนีติอื่นมาเทียบเคียงไว้ เพื่อการศึกษาการใช้ศัพท์ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป.
ในโลกนีติ (โลกนีติ ๑๔๑) มึข้อความต่างกันนิดหน่อย ดังนี้
ชีวนฺตาปิ มตา ปญฺจ,
พฺยาเสน ปริกิตฺติตา;
ทุกฺขิโต พฺยาธิโต มูฬฺโห,
อิณวา นิตฺยเสวโกฯ
ในธัมมนีติ (ธมฺมนีติ ๓๒๙) มีข้อความต่างกันอีกเห็นได้ชัด ในบาทที่สาม ดังนี้
ชีวนฺโตปิ มตา ปญฺจ,
พฺยาเสน ปริกิตฺติตา;
ทุกฺขิโต พฺยาธิโตปกฺโข,
อิณวา นิตฺยเสวโกฯ
..
คงแปลเอาความพอให้เป็นแนวทางนะครับ หากแปลตามไวยากรณ์จริง ก็ต้องว่ากันอีกแบบ บางครั้งอาจจะได้ใจความดี บางครั้งก็อาจจะฟังไม่เข้าใจเลยก็มี แล้วแต่คนชอบ
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen