๗. ของหายากสี่อย่าง
เสเล เสเล น มาณิกํ, คเช คเช น มุตฺติกํ,
วเน วเน น จนฺทนํ, ฐาเน ฐาเน น ปณฺฑิตํฯ
“แก้วมณี มิได้มีในทุกภูผา,
แก้วมุกดา มิได้มีในช้างทุกเชือก,
ไม้จันทน์แดง มิได้มีในทุกป่า,
นักปราชญ์ มิได้มีในที่ทุกแห่ง.“
(โลกนีติ, หมวดบัณฑิต, คาถาที่ ๗, กวิทัปปณนีติ ๘๒)
..
ศัพท์น่ารู้ :
เสเล เสเล (ในทุกภูเขา) เสล+สฺมึ
น (ไม่, หามิได้) นิบาตบอกปฏิเสธ
มาณิกํ (แก้วมณี) มาณิก+อํ, หรือจะ + สิ ปฐมาวิภัตติ ก็ได้แล้ว ถ้าต้องการให้เป็นประธานในประโยค, ในที่นี้ใช้เป็นกรรมให้ประกอบ อํ ทุติยาวิภัตติ.
คเช คเช (ในช้างทุกเชือก) คช+สฺมึ
มุตฺติกํ (แก้วมุกดา, ไข่มุก) มุตฺติก+สิ
วเน วเน (ในป่าทุกแห่ง) วน+สฺมึ
จนฺทนํ (ไม้จันทน์) จนฺทน+อํ
ฐาเน ฐาเน (ในที่ทุกสถาน) ฐาน+สฺมึ
ปณฺฑิตํ (บัณฑิต, นักปราชญ์) ปณฺฑิต+อํ.
คำว่า เสเล เสเล, คเช คเช, วเน วเน, ฐาเน ฐาเน การกล่าวลักษณะอย่างนี้ ในภาษาบาฬี ท่านเรียกว่า „อาเมณฑิตะ (คำพูดซ้ำ) ท่านในเวลาต่าง ๆ ๑๑ อย่าง ดังนี้ ๑. ภเย ในเวลากลัว ๒. โกเธ ในเวลาโกรธ ๓. ปสํสสายํ ในการสรรเสริญ ๔. ตุริเต ในกิจรีบด่วน ๕. โกตูหเล ในเวลาโกลาหล ๖. อจฺฉเร ในเวลาอัศจรรย์ ๗. หาเส ในเวลาดีใจ ๘. โกเส ในเวลาเสียใจ (ดุด่า) ๙. ปสาเท ในเวลาเลื่อมใส ๑๐. ครหายํ ในเวลาติเตียน และ ๑๑. สมฺมาเน ในเวลาบูชา. (ดูอภิธานัปปทีปิกา คาถา ๑๐๗)
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen