๑๖. อย่าปล่อยวัยให้ไร้ค่า
ปถมํ ปราชเย สิปฺปํ, ทุติยํ ปราชเย ธนํ,
ตติยํ ปราชเย ธมฺมํ, จตุตฺถํ กึ กริสฺสติฯ
„ปฐมวัย ไม่ศึกษาหาความรู้,
วัยที่สอง ไม่ทำงานสะสมทรัพย์,
วัยที่สาม ไม่ทำบุญปฏิบัติธรรม
ปัจฉิมวัย จักทำประโยชน์อะไร?“
(โลกนีติ หมวดบัณฑิต คาถาที่ ๑๖, นรทักขทีปนี ๑๕)
..
ศัพท์น่ารู้ :
ปถมํ (ที่ต้น, ที่แรก, ปถมวัย) ปถม+อํ
ปราชเย (พึงพ่ายแพ้, ปราชัย) ปรา+√ชิ+อ+เอยฺย ภูวาทิ. กัตตุ. พฤทธิ์ อิ เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย ด้วยสูตรว่า เอ อย. (รู ๔๙๑) แปลง เอยฺย เป็น เอ ได้บ้าง (รู ๔๕๔, ๔๘๘), ชิ ธาตุเป็นได้ทั้ง ภูวาทิคณะและกิยาทิคณะตามที่ธาตฺวัตถสังคหะแสดงไว้ในคาถาที่ ๑๓๘ ว่า “ชิ ภูกี ชยปราเช” แปลว่า „ชิ ธาตุได้ทั้งหมวดภูธาตุและหมวดกีธาตุ ย่อมเป็นไปในอรรถว่า ชนะ และ ปราชัย.
สิปฺปํ (ซึ่งศิลปะ, ความรู้) สิปฺป+อํ
ทุติยํ (ที่สอง, ทุติยวัย) ทุติย+อํ
ธนํ (ซึ่งทรัพย์) ธน+อํ
ตติยํ (ที่สาม, ตติยวัย) ตติย+อํ
ธมฺมํ (ซึ่งธรรม, ความดี, บุญ, กุศล) ธมฺม+อํ
จตุตฺถํ (ที่สี่, จตุตถวัย, ปัจฉิมวัย) จตุตฺถ+อํ
กึ = กึ ปโยชนํ (อะไร, ประโยชน์อะไร) กึ+อํ
กริสฺสติ (จักทำ) กร+โอ+อิ+สฺสติ ตนาทิ. กัตตุ.
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen