๒๐. ขาดปัจจัยก็ไร้รส
น รสํ อโกตมฺพุลํ, อธนสฺสลงฺกตมฺปิ,
อโลนกนฺตุ พฺยญฺชนํ, พฺยากรณํ อสิปฺปสฺสฯ
„พลูไม่ได้ป้ายปูน ย่อมไม่ได้รสชาติ,
คนไร้ทรัพย์ แม้จะแต่งตัวอย่างไร ก็ไม่งาม,
กับข้าวที่ขาดเกลือ ย่อมไม่อร่อย,
คำพูดของคนไร้ความรู้ ย่อมไม่น่าเชื่อถือ.“
(โลกนีติ หมวดบัณฑิต คาถาที่ ๒๐)
..
ศัพท์น่ารู้ :
น (ไม่, หามิได้) นิบาต
รสํ (รส, ความประพฤติ, ความเพียร, กิจ) รส+สิ
ในอภิธานัปปทีปิกา คาถาที่ ๘๐๔ ท่านกล่าวถึงอรรถแห่ง รส ศัพท์ไว้ว่า
ทฺรวา’จาเรสุ วีริเย, มธุราทีสุ ปารเท;
สิงฺคาราโท ธาตุเภเท, กิจฺเจ สมฺปตฺติยํ รโสฯ
แปลว่า รส ศัพท์ มีอรรถ ๙ อย่าง คือ : ทฺรว-ของเหลว ๑ อาจาร-ความประพฤติ ๑ วีริย-ความเพียร ๑ มธุราทิ-รส ๖ อย่าง มีหวานเป็นต้น ๑ ปารท-ปรอท ๑ สิงฺคาราทิ-รส ๙ อย่าง มีสิงคาระเป็นต้น ๑ ธาตุเภท-รสธาตุพิเศษ(แห่งธาตุ ๘ อย่าง มี รส รตฺต มํส เป็นต้น) ๑ กิจฺจ-กิจ (มีสังฆัฏฏนะเป็นต้น) ๑ และ สมฺปตฺติ-ความสมบูรณ์แห่งสังฆัฏฏนะเป็นต้น ๑. (สรุปความจากอภิธานัปปทีปิกานิสสยะ)
อโกตมฺพุลํ (ใบพลูไม่มีปูน) น (ไม่) +ก (ปูน) +ตมฺพุล (ใบพลู, หมากพลู), ศัพท์ ก ท่านแปลไว้ในพจนานุกรมบาลี-ไทยว่า ๑ ป. พระพรหม; ลม; ไฟ; ใจ; ๒ นป. หัว, ผม; น้ำ; ๓ ส. ใคร? อะไร? สิ่งไหน? ในคาถานี้ขอแปล ก ศัพท์ว่า ปูน ไปก่อน หากผิดต้องขออภัยท่านผู้รู้ไว้ ณ โอกาศนี้ด้วยครับ.
อธนสฺสลงฺกตมฺปิ = อธนสฺส (คนไม่มีทรัพย์)+อลงฺกตํ (ประดับ)+อปิ (แม้)
อโลนกนฺตุ = อโลนกํ+ตุ (ไม่เค็ม, ไม่ใส่เกลือ+ส่วน)
พฺยญฺชนํ (กับข้าว, พยัญชนะ) พฺยญฺชน+สิ
พฺยากรณํ (การพยากรณ์, ทักทาย, อธิบาย, ปรึกษา) พฺยากรณ+สิ
อสิปฺปสฺส (คนไม่ศิลปะ, ไม่มีความรู้) น+สิปฺป > อสิปฺป+ส, วิ. นตฺถิ สิปฺปํ อสฺสาติ อสิปฺโป. (ศิลปะย่อมไม่ม่แก่เขา เหตุนั้น เขา ชื่อว่า ไม่มีศิลปะ) นนิปาตปุพพบท พหุพพีหิสมาส.
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen