๓๒. พวกมีปมด้อย
อปฺปรูโป พหุํภาโส, อปฺปปญฺโญ ปกาสิโต;
อปฺปปูโร ฆโฎ โขเภ, อปฺปขีรา คาวี จเลฯ
“คนขี้เหร่ มักเป็นคนช่างคุย,
คนมีปัญญาน้อย มักพูดจาโอ้อวด,
หม้อนำ้พร่อง มักกระฉอกง่าย,
แม่โคตัวมีน้ำนมน้อย มักถีบถอง.“
(โลกนีติ หมวดบัณฑิต คาถาที่ ๓๒, กวิทัปปณนีติ ๙๕)
..
ศัพท์น่ารู้ :
อปฺปรูโป (คนมีรูปน้อย, คนขี้เหร่, รูปไม่หล่อ) อปฺปรูป+สิ, ถ้า อภิรูโป (ชายรูปหล่อ), อภิรูปา (หญิงรูปสวย)
พหุํภาโส (คนพูดมาก, คุยเก่ง, ช่างคุย) พหุ+ภาส > พหุํภาส+สิ, หรือเป็น พหุพฺภาโส, พหุภาโส ก็ได้เช่นกัน
อปฺปปญฺโญ (คนมีปัญญาน้อย, คนโง่) อปฺปปญฺญ+สิ, อปฺป (น้อย) + ปญฺญา (ปัญญา) วิ. อปฺปา ปญฺญา ยสฺสาติ อปฺปปญฺโญ, ปุริโส. (ปัญญา ของบุรุษใด มีน้อย เหตุนั้น ผู้บุรุษนั้น ชื่อว่า อปฺปปญฺโญ) เป็นฉัฏฐีพหุพพีหิสมาส
ปกาสิโต (คนมักโอ้อวด, โผงผาง, ชอบโวยวาย) ปกาสิต+สิ, กวิทัปปณนีติ เป็น ปกาสโก.
อปฺปปูโร (ที่เต็มน้อย, ทีไม่เต็ม, ที่พร่อง) อปฺป+ปูร > อปฺปปูร+สิ
ฆโฎ (หม้อ, หม้อน้ำ) ฆฏ+สิ
โขเภ (กระฉอก) ขุภ+อ+เอยฺย, ภูวาทิ. กัตตุ. ขุภ-สญฺจเล ขุภธาตุในความสั่นไหว ในธาตวัตถสังคหะ คาถาที่ ๘๖ ว่าเป็นได้ ๓ คณะธาตุ คือ ภูวาทิ. ทิวาทิ. กิยาทิ.
ส่วนในสัททนีติ ธาตุมาลา กล่าวว่าเป็นทฺวิคณิธาตุ (เป็นได้สองหมวดธาตุ) คือ ภูวาทิคณะ และ ทิวาทิคณะ ขอยกตัวอย่างมาประกอบเพื่อการศึกษา ดังนี้
๑. ภูวาทิคณะ :
กิริยาอาขยาต = โขเภติ, สงฺโขเภติ
นามกิตก์ = โขภา, สงฺโขโภ
ตัวอย่างเช่น: หตฺถินาเค ปทินฺนมฺหิ, ขุพฺภิตฺถ นครํ ตทา.
(เมื่อพระเวสสันดรโพธิสัตว์ประทานช้างตัวประเสริฐ, ในกาลนั้น พระนคร เกิดสั่นสะเทือน. ๒๘/๑๐๕๖)
๒. ทิวาทิคณะ :
กริยาอาขยาต = ขุพฺภติ, สํขุพฺภติ.
ตัวอย่างเช่น: ขุพฺภิตฺถ นครํ (นคร หวั่นไหว)
การิตปัจจัย (เหตุกัตตุวาจก) = โขเภติ, โขภยติ
อปฺปขีรา (น้ำนมน้อย) อปฺป+ขีร > อปฺปขีรา+อา ปัจจัยในอิตถีลิงค์ > อปฺปขีรา+สิ วิ. อปฺปํ ขีรํ ยสฺสาติ อปฺปขีรา, คาวี. (น้ำนม ของแม่โคใด มีน้อย เหตุนั้น แม่โคนั้น ชื่อว่า อปฺปขีรา) ฉัฏฐีพหุพพีหิสมาส
คาวี (แม่โคนม) คาวี+สิ
จเล (ไหว, สั่น, ดิ้น) √จล+อ+เอยฺย ภูวาทิ. กัตตุ.
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen