๓๓. เขียดฝันอยากเป็นราชสีห์
มณฺฑูเกปิ อุกฺเร สีเห, กากคฺคเห ปิเย ปิเย;
อปณฺฑีปิ ปณฺฑี หุตฺวา, ธีรา ปุจฺเฉ วเย วเยฯ
“เมื่อเขียดน้อยตะเบ็งเสียงดุจราชสีห์,
พอถูกกาคาบไป ได้ร้องเสียง “เอ็บเอ็บ ๆ“,
คนโง่อวดตนเป็นคนฉลาด,
พอนักปราชญ์ถาม ได้แต่ทำ เอ้อ ๆ อ้า ๆ.“
(โลกนีติ หมวดบัณฑิต คาถาที่ ๓๓, ธัมมนีติ ๑๓๙)
..
ศัพท์น่ารู้ :
มณฺฑูเกปิ (แม้เมื่อกบ, เขียด) มณฺฑูเก+อปิ, มณฺฑูก แปลว่า กบ, มณฺฑูก+สฺมึ = มณฺฑูเก, แปลง สฺมึ เป็น เอ.
อุกฺเร (?) อุกฺร+สฺมึ, (ไม่ทราบว่ามาจากธาตุ ปัจจจัยอะไร? แปลว่าอะไร! อาจจะหมายถึง กบร้อง, อะไรประมาณนั้น)
สีเห (ราชสีห์) สีห+สฺมึ
กากคฺคเห (ในเพราะการจับของกา, เมื่อถูกกาคาบไป) กาก+คห > กากคฺคห+สฺมึ
ปิเย ปิเย (ที่รัก ที่รัก) ปิย+สฺมึ, ในที่นี้ขอแปลว่า กบร้องเสียงหลง เอ็บเอ็บ ๆ.
อปณฺฑีปิ (แม้คนไม่ปัญญา, คนโง่) อปณฺฑี+อปิ, น+ปณฺฑี > อปณฺฑี+สิ, คำว่า ปณฺฑี มาจาก ปณฺฑา+อี ปัจจัยในตทัสสัตถิตัทธิต. วิเคราะห์ว่า. ปณฺฑา อสฺส อตฺถีติ ปณฺฑี. (ปัญญา ย่อมมี แก่เขา เหตุนั้น เขา ชื่อว่า ปณฺฑี, ผู้มีปัญญา), น ปณฺฑี = อปณฺฑี. (คนผู้มีปัญญา หามิได้ ชื่อว่า อปณฺฑี, ไม่ใช่คนมีปัญญา, คนโง่) นนิปาตปุพพปท กัมมธารยสมาส.
ปณฺฑี (คนมีปัญญา, บัณฑิต, นักปราชญ์) ปณฺฑี+สิ
หุตฺวา (เป็นแล้ว) หู+ตฺวา > หุตฺวา+สิ ลบ สิ.
ธีรา (นักปราชญ์, ธีรชน, คนมีปัญญา) ธีร+โย, น่าจะเป็น ธีโร เพราะกิริยา ปุจฺเฉ เป็น
ปุจฺเฉ (ถาม, สอบสวน) √ปุจฺฉ+อ+เอยฺย ภูวาทิ. กัตตุ.
วเย วเย (วัย วัย, เสื่อม ๆ) วย+สฺมึ, ในที่นี้ขอแปลว่า ทำเป็น เอ้อ ๆ อ้า ๆ.
ส่วนในคัมภีร์ธัมมนีติ (๑๓๙) คาถามีการใช้ศัพท์ต่างกันบ้างดังนี้
มณฺฑูโกปิ สีโห วิย, กาโก คณฺเห ปิญฺเญ ปิญฺเญ;
พาโล จ ปณฺฑิโต วิย, ธีโร ปุจฺเฉ วเย วเยฯ
เจ้ากบโง่ทำตัวเหมือนราชสีห์,
ถูกกาคาบไป ร้องเสียงลั่นว่า “เอ็บ เอ็บ ๆ“,
คนโง่ทำตัวเหมือนบัณฑิต,
พอถูกปราชญ์ถาม ได้แต่ทำ เอ้อ ๆ อ้า ๆ.
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen