๓๙. ครูอาจารย์เหมือนช่างหม้อ
น ภิชฺเชตุํ กุมฺภกาโร, โสเภตุํ กุมฺภ ฆฎฺฎติ;
น ขิปิตุํ อปาเยสุ, สิสฺสานํ วุฑฺฒิการณาฯ
“ช่างหม้อมิได้ตีหม้อเพื่อให้แตก,
แต่ตีหม้อเพื่อให้สวยงาม ฉันใด,
ครูอาจารย์มิได้ตีศิษย์เพื่อให้ตกในอบาย,
แต่ตีเพราะหวังความเจริญแก่ลูกศิษย์ ฉันนั้น.“
(โลกนีติ หมวดบัณฑิต คาถาที่ ๓๙, กวิทัปปณนีติ ๙๙)
..
ศัพท์น่ารู้ :
น (ไม่, หามิได้) นิบาตบอกปฏิเสธ
ภิชฺเชตุํ (เพื่อทำลาย) √ภิท+ย+เณ+ตุํ, อันที่จริงแล้ว ตุํ ปัจจัยนี้จัดเป็นนิบาต และยังประกอบด้วยวิภัตตินามหมวดปฐมาวิภัตติ (+สิ แปลว่า อันว่า) และจตุตถีวิภัตติ (+ส แปลว่า เพื่อ) ได้, เพราะความที่เป็นนิบาต ให้ลงวิภัตตินามและลบทิ้งเสีย ด้วยสูตรว่า สพฺพาสมาวุโสปสคฺคนิปาตาทีหิ จ. (รู ๒๘๒).
กุมฺภกาโร (ช่างหม้อ) กุมฺภ (หม้อ) + การ (ผู้ทำ, ช่าง) > กุมฺภการ+สิ, กุมฺภกาโร มาจาก กุมฺภ+√กร+ณ+สิ วิ. กุมฺภํ กโรตีติ กุมฺภกาโร (ผู้กระทำหม้อ ชื่อว่า กุมฺภการ) กัตตุรูป กัตตุสาธนะ. (ทุติยาตัปปุริสสมาส)
โสเภตุํ (เพื่อให้งาม, ให้สวย) √สุภ+อ+เณ+ตุํ
กุมฺภํ (ซึ่งหม้อ) กุมฺภ+อํ
ฆฎติ (พยายาม, ตบแต่ง, ทุบตี) √ฆฏ+อ+ติ ภูวาทิ. กัตตุ.
ขิปิตุํ (เพื่อตกไป, ทิ้งไป, ซัดไป, ขว้างไป) √ขิป+อ+อิ+ตุํ
อปาเยสุ (ในอบาย ท.) อปาย+สุ
สิสฺสานํ (แก่ศิษย์ ท.) สิสฺส+นํ
วุฑฺฒิการณา (เพราะเหตุแห่งความเจริญ) วุฑฺฒิ+การณ > วุฑฺฒิการณ+สฺมา
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen