๕๑. คนดีกับคนชั่วชอบต่างกัน
ภมรา ปุปฺผมิจฺฉนฺติ, คุณมิจฺฉนฺติ สุชนา;
มกฺขิกา ปูติมิจฺฉนฺติ, โทสมิจฺฉนฺติ ทุชฺชนาฯ
“หมู่ภมรชอบดอกไม้,
เหล่าคนดีชอบคุณธรรม,
แมลงวันชอบของบูดเน่า,
พวกคนชั่วชอบสิ่งที่มีโทษ.“
(โลกนีติ หมวดคนดี คาถาที่ ๕๑, ธัมมนีติ ๓๔๒, กวิทัปปณีติ ๑๘๕)
..
ศัพท์น่ารู้ :
ภมรา (แมลงภู่, ตัวต่อ, ภมร) ภมร+โย
ปุปฺผมิจฺฉนฺติ ตัดบทเป็น ปุปฺผํ+อิจฺฉนฺติ (ซึงดอกไม้+ปรารถนา, ยินดี, ต้องการ, ชอบ), ปุปฺผ+อํ วิภัตติ รวมเป็น ปุปฺผํ แปลว่า ซึ่งดอกไม้. ส่วน อิจฺฉนฺติ แปลว่า ปรารถนา, ยินดี, เป็นกิริยาอาขยาต, มาจาก อิสุ+อ+อนฺติ (อ่านว่า อิสุ ธาตุ, +อ ปัจจัย, +อนฺติ วิภัตติ) ให้แปลงที่สุดธาตุเป็น จฺฉ ด้วยสูตรว่า อิสุยมูนมนฺโต จฺโฉ วา. (รู ๔๗๖)
ตัวอย่างรูปแจกปทมาลา หมวดวัตตมานาวิภัตติ มีรูปดังนี้ อิจฺฉติ, อิจฺฉนฺติ. อิจฺฉสิ, อิจฺฉถ. อิจฺฉามิ, อิจฺฉาม. อิจฺฉเต อิจฺฉนฺเต, อิจฺฉเส อิจฺฉวฺเห, อิจฺเฉ อิจฺฉามฺเห. ให้นักศึกษาลองฝึกแจกหมวดปัญจมีวิภัตติเป็นต้น ดูนะครับ.
คุณมิจฺฉนฺติ = คุณํ+อิจฺฉนฺติ (ย่อมปรารถนา ซึ่งคุณ, ความดี) คุณ+อํ
สุชนา (คนดี ท.) สุชน+โย
มกฺขิกา (แมลงวัน ท.) มกฺขิกา+โย, อิต.
ปูติมิจฺฉนฺติ = ปูตึ+อิจฺฉนฺติ (ย่อมปรารถนา ซึ่งของเน่า, ของบูด) ปูติ+อํ
โทสมิจฺฉนฺติ = โทสํ+อิจฺฉนฺติ (ย่อมปรารถนา ซึงโทษ, สิ่งไม่ใช่ประโยชน์) โทสํ+อํ
ทุชฺชนา (คนชั่ว, ทุรชน ท.) ทุชฺชน+โย
คาถานี้ หากเขียนเป็นประโยคธรรมดา แยกสนธิแล้ว ก็จะเป็นดังนี้
๑. ภมรา ปุปฺผํ อิจฺฉนฺติ. (แมลงภู่ ท. ย่อมปรารถนา ซึ่งดอกไม้)
๒. สุชนา คุณํ อิจฺฉนฺติ. (คนดี ท. ย่อมปรารถนา ซึ่งคุณ)
๓. มกฺขิกา ปูตึ อิจฺฉนฺติ. (แมลงวัน ท. ย่อมปรารถนา ซึ่งของบูด)
๔. ทุชฺชนา โทสํ อิจฺฉนฺติ. (คนชั่ว ท. ย่อมปรารถนา ซึ่งโทษ)
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen