๔๘. คำสุภาษิตเย็นกว่าจันทน์
จนฺทนํ สีตลํ โลเก, ตโต จนฺทํว สีตลํ,
จนฺทจนฺทนสีตมฺหา, สาธุวากฺยํ สุภาสิตํฯ
„ไม้จันทน์ เป็นของเย็นในโลก
พระจันทร์ มีความเย็นยิ่งกว่านั้น
ส่วนคำสุภาษิตที่กล่าวดีแล้ว
เย็นกว่าพระจันทร์และไม้จันทน์.
(โลกนีติ หมวดคนดี คาถาที่ ๔๘, มหารหนีติ ๙, ธัมมนีติ ๖๘, กวิทัปปณีติ ๔๓)
..
ศัพท์น่ารู้ :
จนฺทนํ (ไม้จันทน์) จนฺทน+สิ, ป., นป. มาจาก √จทิ+ยุ ปัจจัย ลงนิคคหิตอาคม แปลงนิคคหิตเป็น นฺ, แปลง ยุ เป็น อน. จนฺทน มีวิเคราะห์ว่า (วิ.) จนฺทยติ หิลาทยติ สีตคุณสมงฺคิตาย สตฺตานํ ปริฬาหํ วูปสเมนฺตํ สุขํ อุปฺปาเทตีติ จนฺทนํ
(แปลว่า: ที่ชื่อว่า จนฺทน เพราะอรรถว่า ช่วยให้เกิดความสุขที่ดับความเร่าร้อนของเหล่าสัตว์ได้ เพราะมีกลิ่นหอมที่พรั่งพร้อมไปด้วยความเย็น)
ไม้จันทน์ ๗ ศัพท์ คือ: จนฺทน, คนฺธสาร, มลยช, สุวณฺณจนฺทน, หริจนฺทน, รตฺตจนฺทน, โคสีตจนฺทน. (อภิธาน. ๓๐๐-๑)
สีตลํ (เย็น, หนาว) สีตล+อํ
โลเก (ในโลก) โลก+สฺมึ
จนฺทํว = จนฺทํ+เอว (พระจันทร์+นั่นเทียว) จนฺท+สิ ป.(ในที่นี้เป็นนปุสกลิงค์) มาจาก จทิ+อ ปัจจัย ลงนิคคหิตอาคม แปลงนิคหิตเป็น นฺ
พระจันทร์ ๑๔ ศัพท์ คือ: อินฺทุ, จนฺท, นกฺขตฺตราช, โสม, นิสากร, โอสธีส, หิมรํสิ, สสงฺก, จนฺทิมนฺตุ, สสี, สีตรํสิ, นิสานาถ, อุฬุราช, มา. (อภิธาน. ๕๑)
จนฺทนํ (ไม้จันทน์, ไม้หอม) จนฺทน+อํ
จนฺทนจนฺทสีตมฺหา (แม้กว่าไม้จันทน์และพระจันทร์) จนฺทน+จนฺท+สีต > จนฺทนจนฺทสีต+สฺมา, แปล สฺมา เป็น มฺหา ได้บ้าง ด้วยสูตรว่า สฺมา-หิ-สฺมึนํ มฺหา-ภิ-มฺหิ วา. (รู ๘๑)
สาธุวากฺยํ (ถ้อยคำของคนดี, คำพูดของนักปราชญ์) สาธุ+วากฺย > สาธุวากฺย+สิ
สุภาสิตํ (ถ้อยคำที่กล่าวดีแล้ว, คำสุภาษิต ) สุภาสิต+สิ
คำว่า “สาธุ” มีวิเคราะห์ว่า สารตฺถปรตฺถํ สาเธตีติ สาธุ (ธรรมที่ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้สำเร็จ ชื่อว่า สาธุ) สาธ-สํสิทฺธมฺหิ+อุ,
อนึ่ง สาธุ ศัพท์ย่อมใช้ในอรรถ ๖ อย่าง คือ :
๑. สุนฺทร (ดี, งาม), เช่น สาธุ ธมฺมจารี ราชาฯ สาธุ ปญฺญาณวา นโรฯ สาธุ มิตฺตานมทุพฺโภ, ปาปานํ อกรณํ สุขํฯ (พระราชาผู้มีปกติประพฤติธรรม เป็นพระราชาที่ดี., คนผู้ปัญญา เป็นคนดี., คนไม่ประทุษร้ายมิตรทั้งหลาย เป็นคนดี., การไม่ทำบาปทั้งหลาย เป็นความดี.)
๒. ทฬฺหีกมฺม (ทำให้มั่นคง), เช่น สาธุกํ สุโณม มนสิกโรมฯ (เราทั้งหลาย จงฟัง จงกระทำไว้ในใจ ให้มั่น.)
๓. อาจายน (อ้อนวอน), เช่น สาธุ เม ภนฺเต ภควา สํขิตฺเตน ธมฺมํ เทเสตุฯ (ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงแสดงธรรมโดยย่อแก่ข้าพระองค์เถิด.)
๔. สมฺปฏิจฺฉน (รับคำ), เช่น สาธุ ภนฺเตติ โข เต ภิกฺขู ภควโต ภาสิตํ อภินนฺทิตฺวา อนุโมทิตฺวาฯ (ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ชื่นชมยิ่งซึ่งภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า อนุโมนาแล้ว ด้วยคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อ. ดีละ ดังนี้แล.)
๕. สชฺชน (คนดี, ความดี), เช่น อสาธุํ สาธุนา ทเมฯ (พึงฝึกคนคนไม่ดี ด้วยความดี.)
๖. สมฺปหํสน (รื่นเริง, ยินดี), เช่น สาธุ สาธุ สารีปุตฺตฯ (แน่ะสารีบุตร อ. ดีแล้ว ๆ)
(ที่มา : อภิธาน-สูจิ หน้า ๘๗๕)
อีกหนึ่งสำนวนแปล...
“ไม้แก่นจันทน์ เย็นกาย ในโลกนี้,
เย็นฤดี คือพระจันทร์ วันเพ็ญฉาย,
คำปราชญ์เย็น กว่าสิ่งนั้น อีกมากมาย,
เย็นมิคลาย สุภาษิต ลิขิตธรรม.“
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen