๔๙. คำสัตบุรุษไม่เคยผันแปร
อุเทยฺย ภาณุ ปจฺฉิเม, เมรุราชา นเมยฺยปิ,
สีตลา นรกคฺคิปิ, ปพฺพตคฺเค จ อุปฺปลํ,
วิกเส น วิปรีตํ, สาธุวากฺยํ กุทาจนํฯ
“พระอาทิตย์ พึงขึ้นทางตะวันตก,
แม้เขาสุเมรุ พึงน้อมลงมา,
แม้ไฟในนรก พึงดับเย็น,
และดอกบัว พึงบานบนยอดเขา,
คำของสัตบุรุษ ย่อมไม่ผันแปร ในกาลไหน ๆ”
(โลกนีติ หมวดคนดี คาถาที่ ๔๙, กวิทัปปณีติ ๑๘๓)
..
ศัพท์น่ารู้ :
อุเทยฺย (พึงขึ้น) อุ+√อิ+ท+อ+เอยฺย ภูวาทิ. กัตตุ. ท อาคม
ภาณุ (พระอาทิตย์) ภาณุ+สิ, ภาณุรํสิ แปลว่า แสงตะวัน.
ปจฺฉิเม (ทิศตะวันตะวันตก, ปัจฉิมทิศ, ทิศประจิม) ปจฺฉิม+สฺมึ
เมรุราชา (ภูเขาเมรุราช, เขาสุเมรุ) เมรุ+ราช > เมรุราช+อา
นเมยฺยปิ (แม้พึงน้อม, โอนเอน) นเมยฺย+อปิ, นเมยฺย มาจาก √นมุ+อ+เอยฺย ภูวาทิ. กัตตุ.
สีตลา (ที่เย็น, ความเย็น) สีตล+สิ เป็นวิกติกัตตาใน นรกคฺคิ
นรกคฺคิปิ (แม้ไฟในนรก) นรกคฺคิ+อปิ, นรก+อคฺคิ > นรกคฺคิ+สิ = นรกคฺคิ (ไฟนรก)
ปพฺพตคฺเค (บนยอดแห่งภูเขา, ที่ยอดเขา) ปพฺพต+อคฺค > ปพฺพตคฺค+สฺมึ
จ (ด้วย, และ) นิบาต
อุปฺปลํ (อุบล, ดอกบัว) อุปฺปล+สิ
วิกเส (พึงบาน) วิ+√กส+อ+เอยฺย ภูวาทิ. กัตตุ.
น (ไม่, หามิได้) นิบาต
วิปรีตํ (วิปริต, ผันแปร, เปลี่ยนไป) วิปรีต+สิ
สาธุวากฺยํ (คำของคนดี, คำพูดของสัตบุรุษ) สาธุ+วากฺยํ > สาธุวากฺย+สิ
กุทาจนํ (ในกาลไหน, ในกาลบางคราว) กึ+ทาจนํ ปัจจัยในอรรถกาลสัตตมี > กุทาจนํ, แปลง กึ เป็น กุ ด้วย จ ศัพท์ในสูตรว่า กุ หึหํสุ จ. (๒๗๒), ในกวิทัปปณนีติ ประโยคสุดท้ายนี้ เป็น „น วิปริตา สาธุวาจา กุทาจนํ“.
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen