๖๐. วิธีเอาชนะใจคน
อุตฺตมตฺตนิวาเตน, สูรํ เภเทน นิชฺชเย;
นีจํ อปฺปกทาเนน, วีริเยน สมํ ชเยฯ
“พึงชนะคนสูงกว่าด้วยการถ่อมตน,
พึงชนะนักเลงด้วยให้แตกกัน,
พึงชนะคนต่ำกว่าด้วยให้สินน้ำใจ,
พึงชนะคนเสมอกันด้วยความเพียร.“
(โลกนีติ หมวดคนดี คาถาที่ ๖๐, มหารหนีติ ๑๔๙, กวิทัปปณีติ ๑๙๓)
..
ศัพท์น่ารู้ :
อุตฺตมตฺตนิวาเตน ตัดบทเป็น อุตฺตมํ+อตฺตนิวาเตน, อุตฺตมํ (ผู้สูงสุด, ผู้อุดม, ) อุตฺตม+อํ, อตฺตนิวาเตน (ด้วยการถ่อมตน) อตฺต+นิวาต > อตฺตนิวาต+นา
สูรํ (คนกล้า, นักเลง) สูร+อํ
เภเทน (ด้วยทำลาย, ทำให้แตก) เภท+นา
นิชฺชเย (พึงชนะ) นิ+√ชิ+อ+เอยฺย ภูวาทิ. กัตตุ. บาทคาถานี้ค่อนข้างแปลยากครับ ถ้าแปลตรง ๆ อาจจะผิดสภาวธรรมที่ควรเป็น ส่วนในคัมภีร์กวิทัปปณนีติ มีข้อความค่อนข้างน่าจะถูกต้องคือ „กกฺขฬํ มุทุนา ชเย“. แปลว่า พึงชนะคนกระด้าง ด้วยความอ่อนโยน.
นีจํ (คนต่ำ, ต่ำต้อย) นีจ+อํ
อปฺปกทาเนน (ด้วยการให้ของเล็กน้อย, ตามมีตามได้, ของฝาก, ของที่ระลึก) อปฺปก+ทาน > อปฺปกทาน+นา
วีริเยน, วิริเยน (ด้วยความเพียร, ความพยายาม) วีริย+นา
สมํ: (ผู้เสมอ, คนเสมอกับตน) สม+อํ
ชเย (ชนะ) √ชิ+อ+เอยฺย ภูวาทิ. กัตตุ. พฤทธิ์ อิ เป็น เอ (อญฺเญสุ จ. รู ๔๓๔) = ชฺ เอ+อ+เอยฺย, แปลง เอ เป็น อย (เอ อย. รู ๔๙๑) = ชฺ อย+อ+เอยฺย, แปลง เอยฺย เป็น เอ (กฺวจิ ธาตุ ฯ. รู ๔๘๘) แยก ลบ รวม สำเร็จรูป = ชเย. ถ้าเป็นหมวดกีธาตุ (กิยาทิ.) ก็จะมีรูปเป็น ชินาติ, ชเน เป็นต้น.
ส่วนในกวิทัปปณนีติ คาถา ๑๙๓ มีข้อความต่างกันบ้าง ดังนี้.
อุตฺตมตฺตนิวาเตน, กกฺขฬํ มุทุนา ชเย;
นีจํ อปฺปกทาเนน, วายาเมน สมํ ชเยฯ
พึงชนะคนสูงกว่าด้วยการถ่อมตน,
พึงชนะกระด้างด้วยความอ่อนโยน,
พึงชนะคนต่ำกว่าด้วยให้สินน้ำใจ,
พึงชนะคนเสมอกันด้วยความพยายาม.“
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen