๖๕. สิ่งที่ควรหวังและควรคิดถึง
อปตฺเถยฺยํ น ปตฺเถยฺย, อจินฺเตยฺยํ น จินฺตเย;
ธมฺมเมว สุจินฺเตยฺย, กาลํ โมฆํ น อจฺจเยฯ
“อย่าไปหวังถึงสิ่งที่ไม่ควรหวัง,
อย่าไปคิดถึงสิ่งที่ไม่ควรคิด;
ธรรมะเท่านั้นที่ควรคิดถึง,
อย่าปล่อยเวลาให้สูญเปล่า.“
(โลกนีติ หมวดคนดี คาถาที่ ๖๕, กวิทัปปณีติ ๑๙๖)
..
ศัพท์น่ารู้ :
อปตฺเถยฺยํ (สิ่งที่ไม่ควรปรารถนา) อปตฺเถยฺย+อํ, อปตฺเถยฺย มาจาก น+ปตฺเถยฺย, ปตฺเถยฺย มาจาก √ปตฺถ+อิ+ณฺย (อิ อาคม ณฺย ปัจจัย *ในกิจจปัจจัยในกิตก์ เป็นได้ ๓ กาล ๓ ลิงค์) ลบ ณ ด้วยสูตรว่า การิตานํ โณ โลปํ. (รู ๕๒๖), วุทธิ อิ เป็น เอ, ซ้อน ยฺ รวมสำเร็จรูปเป็น ปตฺเถยฺย, มีวิเคราะห์ว่า: อปตฺถียิตฺถ ปตฺถียติ ปตฺถียิสฺสตีติ ปตฺเถยฺยํ ( ชื่อว่า ปตฺเถยฺย เพราะอรรถว่า ถูกปรารถนาแล้ว ถูกปรารถนาอยู่ จักถูกปรารถนา), วิ. น ปตฺเถยฺยํ = อปตฺเถยฺยํ (สิ่งที่ไม่ถูกปรารถนา ชือว่า อปตฺเถยฺย) นปุพพบทกัมมธารยสมาส
น (ไม่, หามิได้) เป็นนิบาต
ปตฺเถยฺย (ปรารถนา, หวัง) √ปตฺถ+เณ+เอยฺย จุราทิ. กัตตุ.
อจินฺเตยฺยํ (สิ่งไม่ควรคิด) อจินฺเตยฺย+อํ การวิธีทำตัวสำเร็จรูป ให้ดู "อปตฺเถยฺยํ" เทียบเคียงเถิด.
จินฺตเย (คิด, คำนึง) √จินฺต+ณย+เอยฺย จุราทิ. กัตตุ.
ธมฺมเมว ตัทบทเป็น ธมฺมํ+เอว, ธมฺมํ (ซึ่งธรรม) ธมฺม+อํ, เอว (นั่นเทียว, เท่านั้น) เป็นนิบาต
สุจินฺเตยฺย (คิดดี, คิดให้แน่วแน่, คิดเจาะจง) สุ+√จินฺต+เณ+เอยฺย จุราทิ. กัตตุ.
กาลํ (กาล, เวลา) กาล+อํ
โมฆํ: (เปล่า, โมฆะ) โมฆ+อํ
น (ไม่, หามิได้)
อจฺจเย (ให้ล่วงไป) อติ+√อิ+เณ+เอยฺย ภูวาทิ. เหตุกัตตุ., หรือ อา+√จิ-สมุจฺจเย+อ+เอยฺย ภูวาทิ. กัตตุ. (สั่งสม), หรือ √อจฺจ-ปูชายํ+ณย+เอยฺย จุราทิ. กัตตุ. (พึงบูชา). ในกวิทัปปณนีติ เป็น อิจฺฉเย (ปรารถนา, ต้องการ) √อิสุ+อ+ณย+เอยฺย ภูวาทิ. เหตุกัตตุ.
…………………
*ในกิจจปัจจัยในกิตก์ มีปัจจัย ๕ ตัวคือ ตพฺพ, อนีย, ณฺย, เตยฺย, ริจฺจ
ปัจจัยเหล่านี้เป็นได้ ๓ กาล และ ๓ ลิงค์
๑) ตพฺพ, อนีย ปัจจัย ลงด้วยสูตรว่า ภาวกมฺเมสุ ตพฺพานียา. (รู ๕๔๕)
ตย. เช่น
ตณฺหา อภิภวิตพฺพา แปลว่า ตัณหา อันบุคคลควรครอบงำ.
ทุกฺขํ อภิภวนียํ แปลว่า ทุกข์ อันบุคคลควรครอบงำ
๒) ณฺย ปัจจัย ลงด้วยสูตรว่า ณฺโย จ. (รู ๕๕๒)
ตย. เช่น การิยํ, ลพฺภํ, วากฺยํ, ภาคฺยํ, เจยฺยํ เป็นต้น
๓) เตยฺย ปัจจัย ลงด้วย จ ศัพท์ในสูตรว่า ณฺโย จ. (รู ๕๕๒)
ตย. เช่น ญาเตยฺยํ (ควรรู้)
๔) ริจฺจ ปัจจัย ลง ด้วยสูตรว่า กรมฺหา ริจฺจ. (รู ๕๕๗)
ตย. เช่น กิจฺจํ (สิ่งที่ควรทำ, กิจ), ภจฺโจ (ผู้ควรเลี้ยงดู), ปฏิจฺโจ (..ที่ควรถึง, ควรอาศัย)
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen