๓. พาลกัณฑ์-หมวดคนพาล
๖๘. คนพาลเหมือนหม้อน้ำพร่อง
อติปฺปิโย น กาตพฺโพ, ขโล โกตูหลํ กโร;
สิรสา วหฺยมาโนปิ, อฑฺฒปูโร ฆโฏ ยถาฯ
„คนพาลชอบสร้างความวุ่นวาย
จึงไม่ควรทำให้เป็นสุดที่รัก,
เหมือนหม้อน้ำที่พร่องทั้งกึ่ง
แม้เอาหัวเทินไป ก็ยังกระฉอกได้.“
(โลกนีติ หมวดคนพาล คาถาที่ ๖๘, กวิทัปปณนีติ ๒๐๘)
..
ศัพท์น่ารู้ :
อติปฺปิโย (ที่รักยิ่ง, ยอดรัก, รักอย่างยิ่ง, สุดที่รัก) อติ (ยิ่ง, เกิน, ล่วง)+ปิย (ความรัก, ที่รัก) > อติปฺปิย+สิ, ในกวิทัปปณีติ เป็น อติปิโย.
น (ไม่, หามิได้) นิบาตบอกปฏิเสธ
กาตพฺโพ (อันเขาควรทำ, พึงถูกกระทำ) กาตพฺพ+สิ
ขโล (คนพาล, คนชั่ว) ขล+สิ ในพจนานุกรมบาลี-ไทย ท่านแปลว่า ลานข้าว, ตะกอน, ผงละเอียด, ความชั่ว. ในสัททนีติ ธาตุมาลา ท่านว่ามาจาก ขล-จลเน ในความหวั่นไหว กิริยาศัพท์ ขลติ, นามศัพท์เป็น ขโล. ให้ความหมายว่า ขโลติ ทุชฺชโน อสาธุ อสปฺปุริโส ปาปชโนฯ แปลว่า คำว่า ขล ได้แก่ ทุรชน, คนไม่ดี, อสัตบุรุษ, คนชั่ว.
โกตุหลํ (เอะอะ, โวยวาย, อึกทึก, ครึกโครม, วุ่นวาย) โกตุหล+อํ
กโร (ผู้กระทำ) กร+อ ปัจจัย, อันที่จริง ควรเป็นสมาสว่า โกตุหลํกโร (ผู้กระทำความโกลาหล) ก็น่าจะได้.
สิรสา (ด้วยศีรษะ) สิร+นา แปลง นา เป็น อา หลังมโนคณาทิศัพท์ ด้วยสูตรว่า มโนคณาทิโต สฺมึนานมิอา. (รู ๙๕) = สิร+อา, ลง ส อาคมด้วยสูตรว่า ส สเร วาคโม. (รู ๙๖) = สิร+ส+อา แยกลบรวมสำเร็จรูปเป็น สิรสา.
วหฺยมาโนปิ: (แม้ถูกนำไปอยู่) วหฺยมาโน+อปิ, อันทีจริง ศัพท์นี้หาไม่เจอในคัมภีร์ต่าง คงมีแต่ วหมาโน, วุยฺหมาโน ซึ่งพบในปทรูปสิทธิ. ส่วนในกวิทัปปณนีติ เป็น วหมาโนปิ.
อฑฺฒปูโร: (ที่เต็มครึ่งหนึ่ง, เต็มกึ่งหนึ่ง, พร่อง) อฑฺฒ (กึ่งหนึ่ง)+ปูร (เต็ม) > อฑฺฒปูร+สิ
ฆโฎ: (หม้อ, ไห) ฆฏ+สิ
ยถา: (เหมือน, ดุจ) เป็นนิบาตบอกการเปรียบเทียบ
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen