๘๐. หน้าไหว้-หลังหลอก
ปโรกฺเข คุณหนฺตารํ, ปจฺจกฺเข ปิยวาทินํ;
วชฺเชยฺย ตาทิสํ มิตฺตํ, วิสกุมฺเภ ยถา มธุํฯ
"เพื่อนที่กำจัดคุณในที่ลับหลัง,
เพื่อนที่ปากหวานในที่ต่อหน้า;
บุคคลพึงเว้นมิตรผู้เช่นนั้นเสีย,
ดุจเว้นขนมหวานในหม้อมีพิษ ฉะนั้น.“
(โลกนีติ หมวดมิตร คาถาที่ ๘๐, ธัมมนีติ ๙๐, กวิทัปปณนีติ ๒๓๔, จาณักยนีติ ๑๘)
..
ศัพท์น่ารู้ :
ปโรกฺเข (ในที่ลับหลัง) ปโรกฺข+สฺมึ
คุณหนฺตารํ (ผู้กำจัดคุณ, ผู้ทำลายความดี, บั่นรอนคุณ) กิจฺจ+หนฺตุ > กิจฺจหนฺตุ+อํ แปลงที่สุดของ หนฺตุ เป็น อาร ด้วยสูตรว่า อญฺเญสฺวารตฺตํ. (รู ๑๕๙)
ปจฺจกฺเข (ในที่ต่อหน้า, ประจักษ์) ปจฺจกฺข+สฺมึ
ปิยวาทินํ (ผู้มีปกติกล่าวคำไพเราะ, คนกล่าวคำน่ารักเป็นปกติ) ปิย+วาที > ปิยวาที+อํ, แปลง อํ เป็น นํ ได้บ้าง ด้วยสูตรว่า นํ ฌโต กตรสฺสา. (รู ๑๕๓), บางคัมภีร์นีติ เป็น ปิยภาณินํ.
วชฺเชยฺย (พึงเว้น) วชฺชี+อ+เอยฺย, ภูวาทิ. กัตตุ.
ตาทิสํ (ผู้เช่นนั้น) ตาทิส+อํ
มิตฺตํ (ซึ่งมิตร) มิตฺต+อํ, บาทคาถาที่ ๓ นี้ ในธัมมนีติ เป็น ตาทิสํ โนปเสเวยฺย. แปลว่า ไม่พึงเสพมิตรเช่นนั้น.
วิสกุมฺเภ (ในหม้อยาพิษ, หม้อมีสิ่งเป็นพิษ) วิส (พิษ) +กุมฺภ (หม้อ) > วิสกุมฺภ+สฺมึ
ยถา (ฉ้นใด, เหมือน) นิบาตบอกอุปมา
มธุํ (น้ำผึ้ง, ของหวาน) มธุ+อํ, บาทคาถาสุดท้ายนี้ ในธัมมนีติเป็น วิสกุมฺภํ ปโลภิตํ. ส่วนในกวิทัปปณีติ เป็น วิสกุมฺภํ ปโยมุขํ.
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen