๕. อิตฺถิกณฺโฑ-หมวดหญิง
๙๔. เสน่ห์ของหญิง
โกกิลานํ สทฺทํ รูปํ, นารี รูปํ ปติพฺพตา,
วิชฺชา รูปํ อรูปานํ, ขมา รูปํ ตปสฺสินํฯ
„เสียงไพเราะ เป็นเสน่ห์ของนกดุเหว่า
การปรนบัติสามี เป็นเสน่ห์ของหญิง,
วิชาความรู้ เป็นเสน่ห์ของคนขี้เหร่
ความอดทนอดกลั้น เป็นเสน่ห์ของนักพรต.“
(โลกนีติ หมวดหญิง คาถาที่ ๙๔, มหารหนีติ ๒๑๖, ธัมมนีติ ๒๕๙, จาณักยนีติ ๔๖)
..
ศัพท์น่ารู้ :
โกกิลานํ (นกดุเหว่า ท.) โกกิล+นํ
สทฺทํ (เสียง, ศัพท์) สทฺท+สิ, ข้อสังเกตโดยมาก สทฺท ศัพท์เป็น ปุงลิงค์ ที่ถูกควรเป็น สทฺโท. ส่วนในจาณักยนีติ เป็น สโร (เสียง, ลูกศร, สระ),
รูปํ (รูป, นิมิตร) รูป+สิ นป. ในอภิธานัปปทีปิกาคาถาที่ ๘๒๕ ท่านแสดงไว้ว่า รูป ศัพท์เป็นไปในอรรถ ๑๐ อย่าง คือ ๑) ขนฺธ-ขันธ์, ๒) ภว-ภพ, ๓) นิมิตฺต-เหตุ, เครื่องหมาย, ๔) วณฺเณ-สี, ๕) ปจฺจย- วิภัตติปัจจัย(เหตุ), ๖) สภาว-สภาวะ, ๗) สทฺท-ศัพท์, ๘) สณฺฐาน-สัณฐาน, ๙) รูปชฺฌาน-รูปฌาน, และ ๑๐) วปุ-กาย. (เอกงฺคุตฺตร รูปาทิวคฺค ฐ., ปญฺจกนิปาต โสณเถรีวคฺค ฐ. อภิธาน-นิสสยะ), ในที่นี้แปลว่า เสน่ห์ คิดว่า...คงพอฟังได้
นารีรูปํ (รูปของนารี, รูปของหญิง) นารี+รูป > นารีรูป+อํ
ปติพฺพตา (กาปรนนิบัติสามี) ปติ+วต > ปติพฺพต+อา > ปติพฺพตา+สิ ในธัมมนีติ เป็น ปติพฺพตํ.
วิชฺชา (วิชา, วิทยา, ความรู้) วิชฺชา+สิ อิต.
อรูปานํ (ผู้ไม่มีรูป, คนขี้เหร่ ท.) น+รูป > อรูป+นํ ในจาณักยนีติ เป็น กุรูปานํ (คนรูปชั่ว, รูปน่าเกลียด)
ขมา (ความอดทน, อดกลั้น, ข่มใจ) ขมา+สิ อิต.
ตปสฺสินํ (ผู้มีตบะ, นักพรต ท.) ตปสฺสี+นํ, ตป+สี ปัจจัยในตทัสสัตถิตัทธิต > ตปสฺสี วิ. ตโป อสฺส อตฺถีติ ตปสฺสี. (คนชื่อว่า ตปัสสี เพราะอรรถว่า เขามีตบะ)
คำว่า วิชฺชา (ความรู้, วิชา) อิต. วิท-ญาเณ+ณฺย+อา, วิท-ญาเณ ธาตุในความรู้ + ณฺย กิตกปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ (+ สิ วิภัตติ ลบ สิ ปฐมา. เอกพจน์)
วิ. วิชานนํ, วิทตีติ วา วิชฺชา
ความรู้ ชื่อว่า วิชฺชา, หรือ ธรรมชาติใด ย่อมรู้ เหตุนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า วิชฺชา
ทำตัวโดยย่อ
ตั้ง วิท ชื่อว่าธาตุ - ภูวาทโย ธาตโว. = วิท
ธาตุมีอักษรหลายตัวให้ลบที่สุดธาตุ - ธาตุสฺสนฺโต โลโปเนกสฺสรสฺส. = วิทฺ
ลง ณฺย ปัจจัย – ณฺโย จ. (รู ๕๕๒) = วิทฺ+ณฺย
ณ เป็นดุจการิตปัจจัย – การิตํ วิย ณานุพนฺโธ. (รู ๕๕๓) = วิทฺ+ณฺย
ลบ ณ อนุพันธ์ – การิตานํ โณ โลปํ. (๕๒๖) = วิท+ย
เมื่อลบ ณ แล้วให้วุทธิ - อสํโยคนฺตสฺส วุทฺธิ การิเต. (๕๒๗) = เวทฺ+ย
แปลง ทฺย เป็น ช – ยวตํ ตลณทการานํ พฺยญฺชนานิ จญชการตฺตํ. (รู ๔๑) = เวช
เทฺวภาวะ (ซ้อน) ช – ปร เทฺวภาโว ฐาเน. (รู ๔๐) = เวชฺช
จาก เวชฺช เป็น วิชฺช – วชาทีหิ ปพฺพชฺชาทโย นิปจฺจนฺเต. (รู ๖๖๐) = วิชฺช
ลง อา ปัจจัยเป็นอิตถีลิงค์ - อิตฺถิยมโต อาปจฺจโย (รู ๑๗๖) = วิชฺช+อา
แยก ลบ รวม สำเร็จรูป = วิชฺชา
ตัวอย่างแจก วิชฺชา-สัททปทมาลา, เอกวจนะ/ พหุวจนะ
ป. วิชฺชา/ วิชฺชา วิชฺชาโย,
อา. เห วิชฺเช/ เห วิชฺชา วิชฺชาโย
ทุ. วิชฺชํ/ วิชฺชา วิชฺชาโย
ต. วิชฺชาย/ วิชฺชาหิ วิชฺชาภิ
จ. วิชฺขาย/ วิชฺชานํ
ปญฺ. วิชฺชาย/ วิชฺชาหิ วิชฺชาภิ
ฉ. วิชฺชาย/ วิชฺชานํ
ส. วิชฺชายํ วิชฺชาย/ วิชฺชาสุ
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen