๑๔๔. วอนลาภช่วยโปรดคนจน
ทุคฺคตํ คจฺฉ เห ลาภ, ลาภี ลาเภน ปูรติ;
ถเล ปวสฺส ปชฺชุนฺน, สินฺธุ อาเปน ปูรติ ฯ
„ ลาภผู้เจริญเอ่ย เจ้าจงไปหาคนจนเถอะ
คนที่เขาร่ำรวยย่อมเต็มไปด้วยลาภแล้ว
ฝนจ๋า เธอจงไปตกบนที่เนินเถิด
น้ำทะเลย่อมเต็มไปด้วยน้ำพอแล้ว.“
(โลกนีติ หมวดเบ็ดเตล็ด คาถาที่ ๑๔๔, ธัมมนีติ ๓๕๙)
..
ศัพท์น่ารู้ :
ทุคฺคตํ (คนเข็ญใจ, คนจน) ทุ+คต > ทุคฺคต+อํ
คจฺฉ (จงไป) คมุ+อ+หิ ปัญจมีวิภัตติ, ภูวาทิ. กัตตุ. แปลง ม ที่สุดแห่ง คมุ ธาตุเป็น จฺฉ ได้บ้าง ในเพราะวิภัตติทั้งหมด ด้วยสูตรว่า คมิสฺสนฺโต จฺโฉ วา สพฺพตฺถ. (รู ๔๔๒), ลบ หิ วิภัตติ ได้บ้าง ด้วยสูตรว่า หิโลปํ วา. (รู ๔๕๒).
โภ (ผู้เจริญ) ภวนฺต+สิ แปลง ภวนฺตุ เป็น โค ในเพราะสิชื่อค ด้วยสูตรว่า โภ เค ตุ. (รู ๑๑๐)
ลาภ (แน่ะลาภ, ลาภเอย) ลาภ+สิ อาลปนวิภัตติ. ลบ ค,สิ วิภัตติ ด้วยสูตรว่า เสสโต โลปํ คสิปิ. (รู ๗๔)
ลาภี (ผู้มีลาภ, คนรวย) ลาภ+อี > ลาภี+สิ เป็นศัพท์ตัทธิต. ในธัมมนีติ เป็น ลาโภ (ลาภ, คนมีลาภ)
ลาเภน (ด้วยลาภ) ลาภ+นา แปลง นา เป็น เอน ด้วยสูตรว่า อโต เนน. (รู ๗๙)
ปูรติ (ย่อมเต็ม, บริบูรณ์) √ปูร+อ+ติ ภูวาทิ. กัตตุ.
ถเล (ที่ราบ, ที่เนิน) ถล+สฺมึ
ปวสฺส (จงตก, จงหลั่ง) ป+√วสฺส+อ+หิ ภูวาทิ. กัตตุ. ในธัมมนีติ เป็น ปวุฎฺฐ (จงตก) ป+วุฏฺฐ > ปวุฏฺฐ+หิ ปัญจมีวิภัตติ, ภูวาทิ. กัตตุ. (อันที่จริง วุฏฺฐ ยังไม่เคยพบ, คงมีแต่ วสฺส, วสฺสุ ที่หมายถึงฝนตก, ยังนึกไม่แน่ใจว่าทำตัวอย่างไรแน่, ฝากผู้รู้ช่วยกันคิดด้วยนะขอรับ)
ปชฺชุนฺน (แน่ะฝน, ฝนเอย) ปชฺชุนฺน+สิ อาลปนวิภัติ.
สินฺธุ (แม่น้ำสินธุ, ทะเล) สินฺธุ+สิ ในธัมมนีติ เป็น อาโป (น้ำ, ทะเล).
อาเปน (ด้วยน้ำ) อาป+นา
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen