๑๔๗. ทั้งหนักและควรนับถือ
ปาสาณฉตฺตํ ครุกํ, ตโต เทวานจิกฺขณํ;
ตโต วุฑฺฒานโมวาโท, ตโต พุทฺธสฺส สาสนํฯ
“ฉัตรที่ทำด้วยแผ่นหิน เป็นของหนัก,
คำบอกเล่าของเทวดาทั้งหลาย หนักกว่านั้น;
โอวาทของผู้เฒ่าทั้งหลาย มีน้ำหนักกว่านั้นอีก,
ส่วนคำสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งหนักและควรนับถือ.“
(โลกนีติ หมวดเบ็ดเตล็ด คาถาที่ ๑๔๗, ธัมมนีติ ๑๒, มหารหนีติ ๑๓, กวิทัปปณนีติ ๔๖)
..
ศัพท์น่ารู้ :
ปาสาณฉตฺตํ (ฉัตรที่ทำด้วยหิน, ร่มหิน,) ปาสาณ+ฉตฺต > ปาสาณฉตฺต+อํ, ปาสาณ (หิน, แผ่นหิน) ป., ฉตฺต (ฉัตร, ร่ม) นป.
ครุกํ (ที่หนัก, หนักแน่น, ควรเคารพ, น่านับถือ) ครุก+อํ
ตโต (กว่านั้น) ต+โต ปัจจัย ๆ เรียกว่า „วิภัตติปปัจจัย“ คือ ปัจจัยที่ใช้แทนวิภัตติ ใช้ในอรรถปัญจมีวิภัตติ ให้แปลว่า แต่, จาก, กว่า, เหตุ (เพราะ).
เทวานจิกฺขนา (การบอกข่าวของพวกเทวดา) เทวานํ+จิกฺขนา >เทวานจิกฺขนา+สิ, เป็นอลุตตสมาส. ส่วนในกวิทัปปณนีติ เป็น เทวานาจิกฺขนา ตัดบทว่า เทวานํ+อาจิกฺขนา (การบอกกล่าว-, บอกเล่าของเทวดาทั้งหลาย); เทวา+นํ = เทวานํ (ของพวกเทวดา), อาจิกฺขนา+สิ = อาจิกฺขนา (การบอก, การกล่าว).
วุฑฺฒานโมวาโท ตัดบทเป็น วุฑฺฒานํ+โอวาโท (โอวาทของคนเฒ่าทั้งทั้งหลาย), วุฑฺฒ (ผู้เฒ่า, คนแก่, ผู้สูงอายุ, เจริญแล้ว) วฑฺฒ-วฑฺฒเน (เจริญ)+ต แปลง ต เป็น ฒ § ธฒภเหหิ ธฒา จ. (รู ๖๐๗), แปลง อ เป็น อุ และลบ ฑ § กฺวจิ ธาตุ ฯ. (รู ๔๘๘), เพราะ ฒ แปลงที่สุดธาตุเป็น ฑฺ § โฑ ฒกาเร. (รู ๖๑๕). วุฑฺฒ+นํ = วุฑฺฒานํ (แห่งผู้เฒ่า, ของคนแก่ ท.), โอวาท+สิ = โอวาโท (โอวาท, คำสอน)
พุทฺธสฺส (ของพระพุทธเจ้า) พุทฺธ+ส ป.
สาสนํ (คำสอน, ศาสน์) สาสน+อํ นป.
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen