๑๔๖. คนเบากว่านุ่น
ตูลํ สลฺลหุกํ โลเก, ตโต จาปลฺลชาติโก;
ตโต วุฑฺฒมโนวาโท, ปมตฺโต พุทฺธสาสเนฯ
„นุ่นเป็นสิ่งที่เบาที่สุดในโลก,
เบากว่านุ่นนั้น คือคนกลับกลอก
ที่เบากว่านั้น คือคนไม่ฟังคำคนเฒ่าคนแก่
ยิ่งกว่านั้น คือคนที่ประมาทในพระพุทธศาสนา.“
(โลกนีติ หมวดเบ็ดเตล็ด คาถาที่ ๑๔๖, ธัมมนีติ ๑๓, มหารหนีติ ๑๔, กวิทัปปณนีติ ๔๗)
..
ศัพท์น่ารู้ :
ตุล, ตูลํ (นุ่น, ฝ้าย, สำลี) นป. ตูล+สิ หลังศัพท์นปุงสกลิงค์ อการันต์ให้แปลง สิ เป็น อํ ได้แน่นอน ด้วยสูตรว่า สึ. (รู ๑๙๕), ตุลา อิต. แปลว่า ตาชั่ง, ส่วน ตูล นป. แปลว่า นุ่น, ฝ้าย, สำลี.
สลฺลหุกํ (ที่เบาสุดๆ, เบาอย่างแท้จริง) สํ+ลหุก = สลฺลหุก+สิ
โลเก (ในโลก) โลก+สฺมึ แปลง สฺมึ เป็น เอ ได้บ้าง ด้วยสูตรว่า สฺมาสฺมีนํ วา. (รู ๙๐)
ตโต (กว่านั้น) ต+โต ปัจจัย
จปลชาติโก (ที่มีชาติรวนเร, -กลับกลอก, -กวัดแกร่ง, -หวั่นไหว, -คลอนแคลน) จปล-ชาติก > จปลชาติก+สิ
วุฑฺฒมโนวาโท (คนไม่เชื่อฟังคำสอนของผู้เฒ่า) วุฑฺฒํ+อโนวาโท, ธัมมนีติ เป็น วุฑฺฒานโนวาโท, มหารหนีติ เป็น โนวาทิโก, กวิทัปปณนีติ เป็น โนสาวโก.
ปมตฺโต (ผู้ประมาทแล้ว) ป+มท+ต > ปมตฺต+สิ
พุทฺธสาสเน (ในคำสอนของพระพุทธเจ้า, ในพระพุทธศาสนา) พุทฺธ+สาสน > พุทฺธสาสน+สฺมึ,
ส่วนในคัมภีร์นีติอื่น บาทคาถานี้ เป็น ยติธมฺเม ปมาทโก ก็มี ยติ ธมฺเม ปมาทโก ก็มี (ผู้ประมาทในธรรมของผู้สำรวมอินทรีย์, -พระภิกษุ, -นักพรต) แต่ถ้าเขียนแยกว่า ยติ ธมฺมปมาทโก หรือ ยติ ธมฺเม ปมาทโก ก็อาจแปลได้ว่า พระภิกษุผู้ประมาทในธรรม.
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen