๑๖๒. คบคนดีเหมือนกินอ้อย
ปพฺเพ ปพฺเพ กเมนุจฺฉุ, วิเสสรสวาคฺคโต;
ตถา สุเมตฺติโก สาธุ, วิปรีโตว ทุชฺชโนฯ
„อ้อยย่อมมีรสหวานอร่อย
จากปลายทีละปล้องตามลำดับ ฉันใด
การคบคนที่ดี มีน้ำใจงาม ก็ฉันนั้น
ส่วนการคบคนชั่ว ตรงกันข้ามนั่นเทียว.“
(โลกนีติ หมวดเบ็ดเตล็ด คาถาที่ ๑๖๒, ธัมมนีติ-๑๐๖, มหารหนีติ ๑๕๙)
อธิบายความว่า:
“ การสมาคมกับคนดี มีน้ำใจงาม ยิ่งคบก็ยิ่งดีมีความสุข,
เหมือนการกินอ้อยตั้งแต่ปลายไปหาโคน ย่อมมีรสหวานฉ่ำชื่นใจไปตามลำดับ,
ตรงข้ามกับการสมาคมกับคนชั่ว ยิ่งคบก็ยิ่งมีความทุกข์ เหมือนการกินอ้อย
จากโคนไปหาปลาย ย่อมมีรสจืดจางไปตามลำดับ.“
..
ศัพท์น่ารู้ :
ปพฺเพ ปพฺเพ (ข้อ, ปล้อง, ทีละปล้องๆ) ปพฺพ+สฺมึ
กเมนุจฺฉุ ตัดบทเป็น กเมน+อุจฺฉุ (ตามลำดับ+อ้อย)
วิเสสรสวาคฺคโต ตัดบทเป็น วิเสสรสวา+อคฺคโต (มีรสอันอร่อย+จากปลาย), วิเสส (วิเศษ, ล้ำเลิศ)+รสวนฺตุ (มีรส) > วิเสสรสวนฺตุ+สิ = วิเสสรสวา (มีรสวิเศษ, มีรสอร่อย, รสหวานฉ่ำ). อคฺค+โต = อคฺคโต (แต่ปลาย, แต่ยอด)
ตถา (เหมือนกัน, เหมือนอย่างนั้น) นิบาตบอกอุปมา
สุเมตฺติโก (มิตรดี, ผู้มีไมตรีที่งาม) สุเมตฺติก+สิ
สาธุ (ดี, คนดี) สาธุ+สิ
วิปริตฺโตว ตัดบทเป็น วิปริตฺโต+เอว (ตรงข้างกัน+นั่นเทียว)
ทุชฺชโน (ทุรชน, คนชั่ว) ทุ+ชน > ทุชฺชน+สิ
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen