๗.-๘. ครูคือแบบอย่างของศิษย์
อุปชฺฌาจริยานญฺจ, มาตาปิตูนเมว จ;
สกฺกจฺจํ โย นุปฎฺฐาติ, สุโตปิ ตสฺส ตาทิโส.
อุปชฺฌาจริยานญฺจ, มาตาปิตูนเมว จ;
สกฺกจฺจํ โย อุปฎฺฐาติ, สุโตปิ ตสฺส ตาทิโส.
ครูคนใดย่อมไม่บำรุงอุปัชฌาย์แลอาจารย์
ย่อมไม่เลี้ยงดูมารดาแลบิดาโดยเคารพ
แม้ศิษย์ของครูนั้น ก็จะเป็นเช่นนั้น.
ครูคนใดย่อมบำรุงรับใช้อุปัชฌาย์แลอาจารย์
และย่อมบำรุงเลี้ยงดูมารดาแลบิดาโดยเคารพ
แม้ศิษย์ของครูคนนั้น ก็จะเป็นเช่นนั้น.
(ธรรมนีติ อาจริยกถา ๗, ๘)
--
ศัพท์น่ารู้ :
อุปชฺฌาจริยานญฺจ ตัดบทเป็น อุปชฺฌาจริยานํ+จ (อุปัชฌาย์และอาจารย์ ท. ด้วย) วิ. อุปชฺโฌ จ อาจริโย จาติ อุปชฺฌาจริยา. (อุปัชฌาย์และอาจารย์ ชื่อว่า อุปัชฌาจริยะ) ทวันทสมาส
มาตาปิตูนเมว ตัดบทเป็น มาตาปิตูนํ+เอว (มารดาและบิดา ท. นั่นเทียว) วิ. มาตา จ ปิตา จาติ มาตาปิตโร (แม่และพ่อ ชื่อว่า มาตาปิตะ, มาตาปิตา) ทวันทสมาส
จ (ด้วย, และ, แล) นิบาต
สกฺกจฺจํ (โดยเคารพ)
โย (ผู้ใด) สัพพนาม
นุปฎฺฐาติ ตัดบทเป็น น+อุปฏฺฐาติ (ย่อมไม่อุปัฏฐาก, ไม่บำรุง, ไม่รับใช้)
สุโตปิ ตัดบทเป็น สุโต+อปิ (แม้ลูกศิษย์, ลูกและลูกศิษย์)
ตสฺส (ของผู้นั้น, ของเขา) สัพพนาม
ตาทิโส (ผู้เช่นนั้น) ตาทิส+สิ. วิ. ตมิว นํ ปสฺสติ, โส วิย ทิสฺสตีติ วา ตาทิโส. (คนเห็นเขาเหมือนเขา, หรือ คนที่ปรากฏเสมือนเขา เรียกว่า ตาทิสะ) มาจาก ต สัพพนาม+ทิส ธาตุ+กฺวิ ปัจจัย (รู ๕๘๘)
___________
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
อาจาย์ใด ไม่บำรุงอุปัชฌาย์อาจารย์
แลมารดาบิดาโดยเคารพ
แม้ศิษย์เขาก็จะเป็นคนเช่นนั้น.
อาจารย์ใด ย่อมบำรุงอุปัชฌาย์อาจารย์
แลมารดาบิดาโดยเคารพ
แม้ศิษย์ของเขาก็จะเป็นคนเช่นนั้น.
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้...
ครูคนใด ไม่บำรุงพระอุปัชฌายะ อาจารย์ บิดาและมารดา โดยเคารพ
แม่ศิษย์ของครูผู้นั้น ก็จะต้องเอาอย่างท่าน.
ครูคนใด ตั้งใจบำรุงพระอุปัชฌายะ อาจารย์ บิดาและมารดา โดยเคารพ
แม่ศิษย์ของครูผู้นั้น ก็จะต้องเอาอย่างท่าน.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen