๑๓. อิตถีกถา - แถลงหญิง
๑๕๖. กุลสตรี
จเรยฺย กุลชํ ปญฺโญ, วิรูปมปิ กญฺญกํ;
หีนายปิ สุรูปาย, วิวาหํ สทิสํ กเร.
ผู้มีปัญญาพึงประพฤติกะหญิงสาวกุลสตรี
แม้จะมีรูปขี้ริ้วขี้เหร่ ก็ตาม
พึงแต่งงานกับหล่อนแม้รูปขี้เหร่
ดุจวิวาห์กับหญิงสาวผู้มีรูปงามเถิด.
(ธรรมนีติ อตถีกถา ๑๕๖, มหารหนีติ ๒๑๕)
--
ศัพท์น่ารู้ :
จเรยฺย (พึงประพฤติ, เที่ยวไป) √จร+อ+เอยฺย ภูวาทิ. กัตตุ. ในมหารหนีติ เป็น อาเนยฺย (พึงนำมา), ในราช-ธรรม-โลกนีติ เป็น วเรยฺย (เลือกหา).
กุลชํ (ผู้เกิดจากสกุล, ผู้เกิดในสกุล) กุล+ช > กุลช+อํ, วิ. กุลา ชายตีติ กุลชา, อิตฺถี. (หญิงที่เกิดจากตระกูล ชื่อว่า กุลชา), ถ้าเป็นชายก็เป็น กุลโช ปุริโส (ชายผู้เกิดจากตระกูล), ถ้าเป็นจิต ก็เป็น กุลชํ จิตฺตํ (จิตที่เกิดจากตระกูล) เป็นต้น.
ปญฺโญ (คนมีปัญญา, คนฉลาด) ปญฺญ+สิ, วิ. ปญฺญา อสฺส อตฺถีติ ปญฺโญ, ปุริโส. (บุรุษ ชื่อว่า มีปัญญา เพราะอรรถว่า เขามีปัญญา) ตทัสสัตถิตัทธิต
วิรูปมปิ ตัดบทเป็น วิรูปํ+อปิ (แม้เป็นวิรูป, แม้เป็นคนขี้เหร่) วิรูป+อํ, (หมายเหตุ : เดิมเป็น วิรูปมวิ หรือ วิรูปมวิกญฺญกํ แยกเป็น วิรูปมวิ+กญฺญกํ น่าจะเป็นศัพท์ที่คลาดเคลื่อน ได้แก้เป็น วิรูปมปิ ตามอย่างในมหารหนีติ ซึ่งถือว่าเป็นศัพท์ที่ถูกต้อง)
กญฺญกํ (นางสาวน้อย, หญิงสาว) กญฺญกา+อํ
หีนายปิ ตัดบทเป็น หีนาย+อปิ (แม้ในหญิงที่เลว, ที่ไม่สวย) หีน+ส, ส่วน อปิ ศัพท์เป็นนิบาต แปลว่า แม้.
สุรูปาย (ในหญิงรูปงาม, รูปสวย) สุรูป+ส
วิวาหํ (การวิวาห์, การแต่งงาน) วิวาห+อํ (หมายเหตุ : เดิมเป็น วิวาหสทิสํ ได้แยกเป็น วิวาหํ สทิสํ เหมือนในมหารหนีติซึ่งถือว่าเหมาะสมกว่า)
สทิสํ (เช่นกัน, เหมือนกัน) สทิส+อํ
กเร (พึงทำ, พึงสร้าง) √กร+โอ+เอยฺย ตนาทิ. กัตตุ.
ส่วนในมหารหนีติ คาถา ๒๑๕ มีศัพท์เหมือนกันกัน ต่างกันแต่กิริยาในบาทคาถาแรก และยังประกอบวิภัตติได้ชัดเจนกว่า ดังนี้
อาเนยฺย กุลชํ ปญฺโญ, วิรูปมปิ กญฺญกํ;
หีนายปิ สุรูปาย, วิวาหํ สทิสํ กเร.
ผู้มีปัญญาพึงนำมาซึ่งหญิงสาวที่เกิดจากสกุล
ถีงแม้จะมีรูปขี้เหร่ ก็ตามเถิด ควรจัดการแต่งงาน
กับหญิงแม้มีรูปขี้เหร่ ให้เหมือนกับหญิงรูปงามเถิด.
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
ผู้มีปัญญาควรเลือกหาหญิงมีสกุลดี แม้เจ้าหล่อนจะ
มีรูปขี้ริ้ว พึงทำการวิวาหะด้วยนางนั้น แม้จะมีรูป
ขี้เหร่อย่างเดียวกับวิวาหะด้วยหญิงรูปงาม.
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้...
ผู้มีปัญญาควรเลือกหาหญิงสกุลดี
แม้นางจะมีรูปขี้ริ้วก็ควรแต่งงานกับนางนั้น
การแต่งงานกับนางนั้นก็เหมือนแต่งงานกับหญิงรูปงาม.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen