๑๕๗. หญิงในดวงใจ
สามา มิคกฺขี สุเกสี, ตนุมชฺฌิมทนฺตวา;
ทสฺสนียา มุขวณฺณา, คมฺภีรนาภิ วาจกา;
สุสีลา วายมติ จ, หีนกุลํปิ วาหเย.
หญิงสาวผู้มีผิวงาม มีตาคมดุจเนื้อทราย
มีผมเงางาม เอวบางร่างน้อย ฟันเรียบเสมองาม
ผู้มีใบหน้าและผิวพรรณน่าดูน่าชม สะดือเว้าใน
ช่างจำนรรจา มีกิริยามารยาทงาม มีความพยายาม
แม้จะเกิดในตระกูลต่ำ ก็พึงแต่งงานกับนางเถิด.
(ธรรมนีติ อิตถีกถา ๑๕๗, โลกนีติ ๑๐๗)
--
ศัพท์น่ารู้ :
สามา (ผู้ผิวนิล, ดำขำ, หญิงผิวงาม) สามา+สิ
มิคกฺขี (ผู้มีนัยตาดุจเนื้อทราย, ตางาม) มิค+อกฺขิ มิคกฺขิ+อี > มิคกฺขี+สิ
สุเกสี (ผู้มีผมงาม, มีเกษางาม) สุ+เกส > สุเกส+อี > สุเกสี+สิ
ตนุมชฺฌิมทนฺตวา (ผู้มีร่างกายบอบบาง, เอวบางร่างน้อย และมีฟันงาม) ตุน (ร่างกาย, หนัง; บาง, น้อย, ละมุนละม่อม, ละเอียด) + มชฺฌิม (ตรงกลาง, ส่วนกลาง, สะเอว) + ทนฺตวา (มีฟัน, มีฟันงาม) > รวมเป็น ตนุมชฺฌิมทนฺตวา+สิ, อันที่จริงแล้ว ควรเป็น ทนฺตวตี (หญิงผู้มีฟันงาม) ถึงจะถูก แต่ในที่คงจำกัดด้วยอักษร เพราะฉันท์บังคับ เพื่อความสละสะลวย.
ทสฺสนียา (น่าดูน่าชม, คนสวย) ทสฺสนียา+สิ
มุขวณฺณา (มีหน้าและผิวพรรณ..) มุข+วณฺณ > มุขวณฺณ+อา ปัจจัยในอิตถีลิงค์ > มุขวณฺณา+สิ
คมฺภีรนาภิ (มีสะดือเว้า, มีสะดือลึก) คมฺภีร (ลึก, ลึ้งซึ้ง, ลุ่มลึก) + นาภิ, นาภี (สะดือ, ท้อง, ดุมเกวียน, ดุมรถ) > คมฺภีรนาภิ(-ภี) + สิ
วาจกา (ผู้ช่างเจรจา, อ้อนเก่ง) วาจกา+สิ
สุสีลา (มีศีลอันงาม, มีความประพฤติเรียบร้อย, มีกิริยามารยาท) สุสีลา+สิ
วายมติ (มีความพยายาม, -ขยัน, -หมั่นเพียร). ศัพท์นี้แปลเป็นคุณนามฟังเข้ากันดี แต่วิธีสำเร็จรูปยังนึกไม่ออก แต่ถ้าให้เป็นกิริยอาขยาต พอจะแยกได้ดังนี้ คือ วายม+อ+ติ ภูวาทิ. กัตตุ. ขอฝากไว้ก่อนครับผม.
จ (ด้วย, และ) เป็นนิบาตรวบรวมลักษณะของหญิงที่ว่ามาทั้งหมด เรียกว่า ปทสมุจจยัตถะ การในอรรถรวบรวมบท
หีนกุลํปิ ตัดบทเป็น หีนกุลํ+อปิ (แม้ในตระกูลที่เลว, แม้ในสกุลตำ่, ตระกูลที่ยากจน) หีนกุลํ ถ้าเป็น หีนกุเล จะเหมาะสมกว่า จะตรงกับคำแปลและสัมพันธ์พอดี
วาหเย (ให้นำไป, ให้ถึง, ให้เจริญ) √วห+ณย+เอยฺย ภูวาทิ. เหตุกัตตุ. หรือจะแปลว่า ให้พยายาม, ให้บากบั่น มาจาก √วาห+ณย+เอยฺย ภูวาทิ. เหตุกัตตุ.
--
ในโลกนีติ คาถา ๑๐๗ แห่งอิตถีกัณฑ์ มีใจความเป็นอย่างเดียวกัน แต่ท่านแต่งไว้ด้วยฉันท์อื่น เข้าใจว่าเป็นอินทวิเชียร ฉันท์ ๑๑ พยางค์ ในบาทที่ ๑ ๒ และ ๓ ส่วนบาทที่สุดท้ายไม่ทราบว่าเป็นฉันท์อะไรชนิดใด ลองทัสนาดูเถิด.
สามา มิคกฺขี ตนุมชฺฌคตฺตา,
สูรู สุเกสี สมทนฺตปนฺตี;
คมฺภีรนาภี ยุวตี สุสีลี,
หีเน กุเล ชาตาปิ วิวาหฺยา.
หญิงสาวผู้มีผิวงาม มีตาคมดุจลูกเนื้อทราย
มีทรวดทรงเอวบางร่างน้อย มีผมเงางาม
ฟันเรียบเสมองาม สะดือเว้าใน มีวัยเยาว์
มีมารยาทงดงาม แม้จะเกิดในตระกูลต่ำ
ก็พึงทำการวิวาห์มงคลเถิด.
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
นางสาวที่ผ่องฉวี มีเนตรคมดั่งตาทราย ทรง
กายพอสันทัด ฟันกลกำกัดเรียบเรี่ยม ริมโอษฐ์
เอี่ยมอ่องวรรณ สะดืออันเว้าใน เข้าใจจำนรรจา
มีกิริยามารยาทงาม แลทั้งความขยัน แม้จะเกิด
ในสกุลชั้นต่ำ ก็พึงแต่งงานด้วย.
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้...
นางสาวที่ไฉไล มีดวงตาหยาดเยิ้มดังตาทราย
ทรงกายพอสันทัด ฟันฟางกำดัดเรียบสนิท
ริมฝีปากแดงฝาดน่าดู่ สะดือเว้าใน เข้าใจจำนรรจา
มีกิริยามารยาทงดงาม ทั้งมีความขยันจัดการงานดี
นางเช่นนี้แม้เกิดในตระกูลต่ำ ก็ควรแต่งงานด้วยเถิด.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen