๓๘๐. ชีวิตต่ำทำลายศรี
นีเจ วาโส สิรึ หนฺติ, หนฺติ ครุํ จ ยาจโก;
ปสํสา สุคุณํ หนฺติ, หนฺติ จิตฺตํ อสญฺญตา.
การอยู่ในที่ต่ำทราม ย่อมทำลายศรี
คนชอบขอ ทำลายความน่าเชื่อถือ
การยกยอปอปั้น ทำลายคุณความดี
ความไม่สำรวมอินทรีย์ ทำลายจิตใจ.
(ธรรมนีติ ปกิณณกกถา ๓๘๐)
--
ศัพท์น่ารู้ :
นีเจ (ที่ต่ำ) นีจ+สฺมี, ถ้า อุจฺเจ (ที่สูง)
วาโส (การอยู่, การใช้ชีวิต, ความประพฤติ) วาส+สิ
สิรึ (สิริ, ศรี, ความสง่า) สิริ+อํ
หนฺติ (ฆ่า, กำจัด, บั่นรอน, เบียดเบียน, ทำลาย) √หน+อ+ติ ภูวาทิ. กัตตุ.
ครุํ (ความเคารพ, หนัก, ความเกรงใจ) ครุ+อํ
ยาจโก (ผู้ขอ, ยาจก) ยาจก+สิ
ปสํสา (ความสรรเสริญ, การยกย่อง) ปสํสา+สิ
สุคุณํ (คุณที่ดีงาม) สุคุณ+อํ
จิตฺตํ (จิต, ใจ) จิตฺต+อํ
อสญฺญตา (ความไม่สำรวม, ไม่ระวัง) น+สญฺญตา > อสญฺญตา+สิ
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
การอบรมในที่ต่ำย่อมบั่นรอนสิริ
คนขอทานย่อมบั่นรอนความเคารพ
การยกยอย่อมบั่นรอนคุณความดี
การไม่สำรวมย่อมบั่นรอนใจ.
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..
การอบรมในสำนักต่ำบั่นรอนมิ่งขวัญ
คนขี้ขอบั่นรอนความเคารพ
การยกยอบั่นรอนคุณความดี
ความไม่สำรวมอินทรีย์บั่นรอนจิตใจ.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen