๓๘๑. ภัยของมนุษย์
อสนํ ภยมนฺตานํ, มจฺจานํ มรณํ ภยํ;
อุตฺตมานนฺตุ สพฺเพสํ, อวมานํ ปรํ ภยํ.
การกินจุกจิกเป็นภัยแห่งลำไส้
การตายเป็นภัยของมนุษย์ทั้งหลาย
ส่วนการดูหมิ่นกันเป็นภัยอย่างยิ่ง
สำหรับเหล่าชนชั้นสูงทั้งปวง.
(ธรรมนีติ ปกิณณกกถา ๓๘๑, มหารหนีติ ๗๑)
--
ศัพท์น่ารู้ :
อสนํ (การกินอาหาร) อสน+สิ, อสน แปลว่า หิน, ศิลา; ลูกศร, ลูกธนู, การซัดไป; ไม้ประดู่, ไม้รกฟ้า ก็ได้. ถ้า อนสน แปลว่า การอดอาหาร, ผู้หิวกระหาย.
ภยมนฺตานํ = ภยํ+อนฺตานํ (เป็นภัย+ของลำไส้ ท.)
มจฺจานํ (ของคน, มนุษย์ ท.) มจฺจ+นํ
มรณํ (ความตาย, มรณะ) มรณ+สิ
ภยํ (ภัย, สิ่งน่ากลัว) ภย+สิ
อุตฺตมานนฺตุ = อุตฺตมานํ+ตุ (ที่สูง, เลิศ, ประเสริฐ, วิเศษ + ส่วน) อุตฺตม+นํ, ตุ เป็นนิบาต
สพฺเพสํ (ทั้งปวง, ทั้งหมด, ทั้งสิ้น, ทุกอย่าง) สพฺพ+นํ สัพพนาม
อวมานํ (การดูหมิ่น, การดูถูก, เหยียดหยาม) อวมาน+สิ
ปรํ (อื่น, อื่นอีก, นอกนี้) ปร+สิ สัพพนาม
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
การไม่กินเป็นภัยของไส้
ความตายเป็นภัยของสัตว์
และยังภัยอีกอย่างหนึ่ง
สำหรับคนชั้นสูงทั้งปวงคือความดูหมิ่น ฯ
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..
ไม่กินเลยก็เป็นภัยแก่ลำไส้
กินมากเกินไปก็เป็นภัยแก่ลำไส้
ความตายเป็นภัยแก่สัตว์
แต่ภัยสำหรับคนชั้นสูงคือการดูหมิ่น.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen