๑๕๙. นารีผู้ประเสริฐ
ธมฺเมสุ ปติฎฺฐา นิจฺจํ, สยเนสุ จ วณฺณิภา;
กุเลสุ ภาตรํ วาจี, ยา นารี เสฎฺฐสมฺมตา.
หญิงใดดำรงตนอยู่ในธรรมเป็นนิจ
เวลาจะนอน มีรัศมีเปล่งปลั่ง
เวลานั่ง กล่าวสอนพี่น้องในตระกูล
หญิงนั้น บัณฑิตนับว่า „นารีผู้ประเสริฐ“.
(ธรรมนีติ อิตถีกถา ๑๕๙)
--
ศัพท์น่ารู้ :
ธมฺเมสุ (ใสธรรม ท.) ธมฺม+สุ
ปติฎฺฐา (ดำรง, ตั้งอยู่) ปติฏฺฐา+สิ
นิจฺจํ (ประจำ, เนืองนิจ, เสมอ, แน่นอน) นิจฺจ+อํ, หรือ นิจฺจํ เป็นนิบาต ก็ได้ใช้เป็นกาลสัตตมี
สยเนสุ (ในเวลานอน ท., กาลพักผ่อน, ในเวลานั่งและเวลานอน ท.) สยน+สุ
จ (ด้วย, และ) เป็นนิบาต
วณฺณิภา (มีวรรณะงาม, มีรัศมีเปล่งปลั่ง) วณฺณ+อาภา > วณฺณิภา+สิ
กุเลสุ (ในตระกูล ท. ) กุล+สุ บางฉบับเป็น กุสเลสุ (ในกุศล ท.)
ภาตรํ (พี่ชายน้องชาย, พี่น้องชายหญิง) ภาตุ+อํ เป็น ภาตรํ,
วาจี (บอก-, ตักเตือน-, กล่าวสอน-, โอวาท) วาจา+อี ปัจจัยในตัทธิต รวมเป็น วาจี แปลว่า ผู้มีวาจา, ผู้มีคำพูด, หรือเป็น วจ+ณี ปัจจัย (ผู้มีปกติกล่าว) ก็ได้.
ยา นารี (นารีใด, หญิงใด), ย+สิ = ยา (ใด) เป็นสัพพนาม, นารี+สิ = นารี (หญิง, สตรี)
เสฎฺฐสมฺมตา (ถูกรู้แล้วว่าเป็นผู้ประเสริฐ, ยอมกันแล้วว่าเป็นหญิงที่ประเสริฐ) เสฏฺฐ (ประเสริฐ) + สมฺมต (อันบุคคลรู้พร้อมแล้ว, ทราบกันแล้วด้วยดี) > เสฏฺฐสมฺมต+อา > เสฏฺฐสมฺมตา+สิ
.
--
ในโลกนีติ คาถา ๑๐๖ ท่านได้รวมคาถา ๑๕๘ และ ๑๕๙ ในธัมมนีติไว้ในที่เดียวกัน ซึ่งมีข้อความที่ค่อนข้างชัดเจน และพิศดาร พร้อมกันนี้ ได้นำคำแปลจากโลกนีติไตรพากย์มาประกอบไว้ เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาของท่านทั้งหลายที่สนใจดัวย ดังนี้.
ภุตฺเตสุ มณฺเฑสุ ชนีว กนฺตินี,
คุยฺเห จ ฐาเน ภคินีว หิริณี;
กมฺเมสุ ปตฺเตสุ กโรติ ทาสีว,
ภเยสุ มนฺตี สยเนสุ รามเย;
รูปีสุ สิกฺขี กุปเนสุ ขนฺตินี,
สา นารี เสฎฺฐาติ วทนฺติ ปณฺฑิตา;
กายสฺส เภทา จ ทิเว ภเวยฺย สา.
หญิงใดในยามเสพอาหารและยามแต่งกาย มีความเปรมปรีดิ์ดังมารดา
สิ่งไรซึ่งควรปิดบังก็ละอายดุจน้องหญิง ยามกระทำกิจหรือยามเข้าหาสามี
ก็มีความเคารพดุจทาสี ยามเกิดภัยก็มีความคิด ยามนอนก็เป็นที่น่ารื่นรมย์
ยาม [สามี] เห็นหน้าก็เสงี่ยมงาม และในยาม [สามี] โกรธก็อดทน หญิงชนิดนี้
ปราชญ์กล่าวว่า ประเสริฐสุด นางนั้นครั้นทำลายชีพแล้วจะไปสู่เทวโลก.
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
แลดำรงในธรรมเป็นนิจ
เวลาจะนอนก็มีรัศมีเปล่งปลั่ง
สังสอนพี่น้องในความดี
นารีเช่นนี้ ยอมกันแล้วว่า „นางประเสริฐ“.
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้...
นางนั้นดำรงมั่นในธรรมเป็นนิตย์
เวลานอนก็มีรัศมีเปล่งปลั่ง
เวลานั่งก็สอนพี่น้องในความความดี
นารีเช่นนี้ ท่านยอมรับกันแล้วว่า „นางแก้ว“.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen