๒๒๗. ฉลาดเหมือนเต่า
นตฺตโทสํ ปเร ชญฺญา, ชญฺญา โทสํ ปรสฺส ตุ;
กุมฺโม คุยฺหาอิวงฺคานิ, ปรภาวญฺจ ลกฺขเย.
โทษของตนไม่ควรให้ผู้อื่นรู้
แต่ควรรู้โทษของผู้อื่น
ควรสังเกตภาวะของคนอื่น
เหมือนเต่าซ่อนอวัยวะในกระดอง.
(ธรรมนีติ กตกถา ๒๒๗, โลกนีติ ๗๖)
--
ศัพท์น่ารู้ :
นตฺตโทสํ ตัดบทเป็น น+อตฺตโทสํ, น (ไม่, หามิได้) เป็นนิบาต, อตฺตโทสํ (โทษของตน) อตฺต+โทส > อตฺตโทส+อํ
ปเร: (อื่น, อันอื่น, ต่าง, ภายนอก, เบื้องหน้า) ปร+สฺมึ
ชญฺญา (พึงรู้, ควรรู้, ควรเห็น, ทราบ) √ญา+นา+เอยฺย กิยาทิคณะ กัตตุวาจก, แปลง ญาธาตุ เป็น ชํ ได้บ้าง ด้วยสูตรว่า ญาสฺส ชาชํนา. (รู ๕๑๔) = ชํ+นา+เอยฺย, แปลง เอยฺย เป็น ญา ได้บ้าง ด้วยสูตรว่า เอยฺยสฺส ญาโต อิยาญา. (รู ๕๑๕) = ชํ+นา+ญา, ลบ นา ปัจจัย ไดบ้าง ด้วยสูตรว่า นาสฺส โลโป ยการตฺตํ. (รู ๕๑๖) = ชํ+ญา, แปลงนิคคหิตเป็นที่สุดวรรค ด้วยสูตรว่า วคฺคนฺตํ วา วคฺเค. (รู ๔๙) = ชญฺญา. ในประโยคแรกนี้ให้แปลเป็นเหตุกัตตัวาจก เพื่อให้ความชัดเจน, ส่วน ชญฺญา ในประโยคที่สองให้แปลเป็นกัตตุวาจก.
โทสํ (โทษ, ความผิด) โทส+อํ
ปรสฺส (ของคนอื่น) ปรสฺส (ของคนอื่น) ปร+ส สัพพนาม
ตุ (ส่วน, แต่) เป็นนิบาต
กุมฺโม (เต่า) กุมฺม+สิ
คุยฺหาอิวงฺคานิ ตัดบทเป็น คุยฺหา+อิว+องฺคานิ; คุยฺห (ของลับ, ความลับ, ลิงค์, ที่ปิดบ้ง, กระดอง), อิว (เพียงดัง, ราวกะ, ดุจ, เหมือน) เป็นนิบาตบอกอุปมา, องฺคานิ (องค์, อวัยวะ ท.) องฺค+โย
หมายเหตุบาทคาถาที่ ๓ นี้ แม้ในคัมภีร์อื่นก็ต่างกัน ดังนี้ ๑. ในกวิทัปปณนีติ เป็น „คุยฺโห กุมฺมาว องฺคานิ“. ๒. ในโลกนีติ เป็น „คุยฺเห กุมฺโม องฺคานิ“ น่าจะเป็น คุยฺเห กุมฺโมว องฺคานิ. ดูด้านล่างที่ยกมากประกอบด้วย ส่วนในโลกนีติไตรพากย์ เป็น „ คุยฺเห กุมฺมาว องฺคานิ“.
ปรภาวญฺจ ตัดบทเป็น ปรภาวํ+จ (ภาวะของผู้อื่น+ด้วย) ส่วนในกวิทัปปณนีติและโลกนีติ เป็น ปรโทสญฺจ (โทษของผู้อื่นด้วย, และโทษของผู้อื่น)
ลกฺขเย: (กำหนด, สังเกต, หมายรู้) √ลกฺข+ณย+เอยฺย จุราทิ. กัตตุ.
--
ลำดับนี้ขอนำบาฬีและคำแปลจากโลกนึติไตรพากย์ (พากย์โลกนีติ) มากประกอบไว้ เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปแล
ในโลกนีติ คาถา ๗๖ มีข้อความภาษาบาฬีคล้ายกัน ดังนี้
นตฺตโทสํ ปเร ชญฺญา, ชญฺญา โทสํ ปรสฺส ตุ;
คุยฺเห กุมฺโม องฺคานิ, ปรโทสญฺจ ลกฺขเย.
คนฉลาดไม่พึงให้ผู้อื่นเห็นโทษของตน
แต่พึงสังเกตข้อเสียของผู้อื่น
ควรปิดบังความลับเหมือนเต่าซ่อนอวัยวะในกระดอง
ควรกำหนดรู้ความลับของผู้อื่น.
โทษตนงำเงื่อนไว้--—ห่อนแถลง
โทษท่านเก็บมาแจง--—ดุจเบี้ย
ตัวเต่าสี่ตีนแฝง--หัวหนึ่ง ซ่อนนา
หยิบกล่าวแต่โทษเหี้ย--มุขเท้ารุงรัง.
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
โทษของตัวอย่าให้ผู้อื่นรู้ แต่พึงรู้โทษของผู้อื่น
แลสูเจ้าต้องคอยกำหนดภาวะของผู้อื่นไว้ ฉันเดียว
กับเต่าซ่อนร่างไว้ในกระดอง.
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..
อย่าให้ใครรู้ขอบกพร่องของตัวได้
แต่ต้องรู้ข้อบกพร่องของคนอื่น
สูเจ้าจงคอยกำหนดภาวะของคนอื่นไว้
เหมือนเต่าซ่อนร่างไว้ในกระดองฉะนั้น.
กตกถา นิฏฺฐิตา
จบแถลงกิจควรทำ
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen