๒๒๖. ผู้ชนะสิบทิศ
อุตฺตมํ ปณิปาเตน, สูรํ เภเทน วิชเย;
หีนมปฺปปทาเนน, วิกฺกเมน สมํ ชเย.
พึงชนะคนสูงกว่าด้วยความเคารพ
พึงชนะคนกล้าด้วยการยุให้แยกกัน
พึงชนะคนต่ำกว่าด้วยเพิ่มให้ของรางวัล
พึงชนะคนเสมอกันด้วยเพียรพยายาม.
(ธรรมนีติ กตกถา ๒๒๖, มหารหนีติ ๑๔๙, โลกนีติ ๖๐ กวิทัปปณนีติ ๑๙๓)
--
ศัพท์น่ารู้ :
อุตฺตมํ (อุดม, ประเสริฐ, คนสูงศักดิ์) อุตฺตม+อํ
ปณิปาเตน (ด้วยการหมอบลง, หมอบกราบ, แสดงความเคารพ) ปณิปาต+นา, ส่วนในมหารหนีติ เป็น ปาณิปาเตน (การตกไปแห่งฝ่ามือ, การกราบไหว้) ปาณิ+ปาต > ปาณิปาต+นา
สูรํ (ผู้กล้า, นักเลง, คนที่กล้า) สูร+อํ
เภเทน (ด้วยการแตก, ทำลาย) เภท+นา
วิชเย (ชนะ, ชนะโดยวิเศษ, ปราบ) วิ+√ชิ+อ+เอยฺย ภูวาทิ. กัตตุ. วุทธิ อิ เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย, แปลง เอยฺย เป็น เอ, เป็น วิ+ชย+อ+เอ แยกลบรวมเป็น วิชเย. ถ้าเป็นกิยาทิคณะ จะมีรูปเป็น ชินาติ, วิชินาติ เป็นต้น.
หีนมปฺปปทาเนน ตัดบทเป็น หีนํ+อปฺปปทาเนน, หีนํ (เลว, ต่ำ, ด้อย, คนที่ด้อย) หีน+อํ; อปฺปปทาเนน (ด้วยการเพิ่มให้ของเล็กน้อย, การให้ของเป็นสินน้ำใจ) อปฺป+ปทาน > อปฺปปทาน+นา, ในมหารหนีติ เป็น ทพฺพปทาเนน (ด้วยการให้สิ่งของ)
วิกฺกเมน (การก้าวไป, ใช้กำลัง, กล้าหาญ, พยายาม) วิกฺกม+นา
สมํ (เสมอ, คนเสมอกัน) สม+อํ
ชเย (ชนะ, ชัย) √ชิ+อ+เอยฺย ภูวาทิ. กัตตุ.
--
ลำดับนี้ขอนำเอาคาถาเดียวกันนี้ ที่ปรากฏในคัมภีร์นีติอื่น มาเปรียบเทียบกันเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาวิธีใช้ศัพท์ที่ต่างกันออกไป เพื่อความเป็นผู้ฉลาดในอักษรต่อไป.
๑. ในมหารหนีติ คาถา ๑๔๙ มีการใช้ศัพท์ต่างกันบ้างดังนี้
อุตฺตมํ ปาณิปาเตน, สูรํ เภเทน วิชเย;
นีจํ ทพฺพปทาเนน, วิกฺกเมน สมํ ชเย.
พึงชนะคนสูงกว่าด้วยการกราบไหว้
พึงชนะคนกล้าด้วยทำยุให้แตกกัน
พึงชนะคนต่ำกว่าด้วยให้วัตถุสิ่งของ
พึงชนะคนเสมอกันด้วยความพยายาม.
๒. ในโลกนีติ คาถา ๖๐ ท่านใช้ศัพท์ต่างกันเห็นได้ชัดเจน และพร้อมกันนี้ได้คัดลอกคำแปลและคำโคลงอันไพเราะจากโลกนีติไตรพากย์ (พากย์โลกนีติ) มาประกอบไว้ด้วย เพื่อประโยชน์แก่การศึกษา ดังนี้.
อุตฺตมตฺตนิวาเตน, สูรํ เภเทน นิชฺชเย;
นีจํ อปฺปกทาเนน, วีริเยน สมํ ชเย.
พึงชนะผู้สูงศักดิ์ ด้วยการถ่อม
ผู้แกล้วกล้า ด้วยการให้แตกสามัคคี
ผู้ต่ำศักดิ์ ด้วยการให้เล็กน้อย
ผู้ที่เสมอกัน ด้วยความเพียร.
สูงศักดิ์ต้านต่อด้วย--ถ่อมตน ชนะแฮ
สูงส่ำชอบยศผจญ--—จ่อจั้ง
เข็ญใจชอบอวยธน--ทรัพย์แผ่ ผจญนา
ออมอดต่างค่ายตั้ง--—ต่อสู้เสมอตัว.
ผจญคนมีศักดิ์ด้วย--—หมอบกราน
ผจญท่วยทุรพลทาน--แจกให้
เสมออาตม์จักทรมาน--ชอบอด ออมแฮ
ผจญหมู่ข้าศึกไซร์--—ล่อเลี้ยวลวงประหาร.
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
พึงชนะคนสูงโดยยกมือไหว้ พึงชนะคนกล้าโดย
ให้แตกสามัคคี พึงชนะคนต่ำโดยเพิ่มทีละน้อย
พึงชนะคนเสมอกันด้วยความบากบั่น.
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..
ควรเอาชนะคนสูงศักดิ์ด้วยกราบไหว้
ควรเอาชนะคนกล้าด้วยให้แตกสามัคคี
ควรชนะคนต่ำด้วยค่อยเพิ่มให้ทีละน้อย
แต่ต้องชนะคนเสมอกันด้วยความบากบั่น.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen