Dienstag, 11. Juli 2023

๒๓๓. ควรเว้นให้ไกล ๖

 

๒๓๓. ควรเว้นให้ไกล


กุเทสญฺจ กุมิตฺตญฺจ, กุสมฺพนฺธํ กุพนฺธวํ;

กุทารญฺจ กุราชานํ, ทูรโต ปริวชฺชเย.


เมืองไร้ธรรม เพื่อนเลวทราม  

ญาติชั่ว พวกพ้องไร้นำ้ใจ

เมียชั่ว ท้าวพระยาชั่ว  

เหล่านี้ ควรหลีกเว้นให้ห่างไกล.


(ธรรมนีติ อกตกถา ๒๓๓, กวิทัปปณนีติ ๒๔๕, จาณักยนีติ ๓๙, โลกนีติ ๙๑)


--


ศัพท์น่ารู้ :


กุเทสญฺจ ตัดบทเป็น กุเทสํ+ (ประเทศที่ชั่ว, -เลว, -ต่ำ, -ลามก+ด้วย) กุเทส+อํ 

กุมิตฺตญฺจ  ตัดบทเป็น กุมิตฺตํ+ (มิตรที่ชั่ว, -เลว, ต่ำ, -ลามก+ด้วย) กุมิตฺต+อํ

กุสมฺพนฺธํ (คนที่เกี่ยวข้องกัน, ญาติกัน) กุ+สมฺพนฺธ > กุสมฺพนฺธ+อํ,  ในโลกนีติ เป็น กุกุลญฺจ ตัดบทเป็น กุกุลํ+ (ตระกูลที่ชั่ว, -เลว, ต่ำ, -ลามก+ด้วย) กุกล+อํ

กุพนฺธวํ (พวกพ้อง, ญาติมิตรที่ชั่ว) กุพนฺธว+อํ

กุทารญฺจ ตัดบทเป็น กุทารํ+ (เมีย-, ภริยา-, ทาระที่ชั่ว, -เลว, ต่ำ, -ลามก) กุทาร+อํ

กุราชานํ (พระเจ้าแผ่นดิน, พระราชาไม่ดี) กุ+ราช > กุราช+นํ, ในโลกนีติ เป็น กุทาสญฺจ  ตัดบทเป็น กุทาสํ+ (คนใช้-, ทาสที่ชั่ว, -เลว, ต่ำ, -ลามก) กุทาส+อํ

(ด้วย, และ) ทั้ง ศัพท์เป็นนิบาตใช้ในอรรถปทสมุจจยะ (รวบรวมบท) 


ศัพท์ว่า กุ แปลว่า แผ่นดิน อิต. ถ้าเป็นอัพยยศัพท์ คือ นิบาต (.) ใช้ในอรรถน่าเกลียด

 น่ารังเกียจ (ชิคุจฺฉายํ) ในการตั้งรูปตั้งวิเคราะห์นิยมใช้ กุจฺฉิต ที่แปลว่า ต่ำช้า, เลว, ทราม เช่น กุจฺฉิโต เทโส = กุเทโส (ประเทศที่เลว ชื่อว่า กุเทส), กุจฺฉิโต มิตฺโต = กุมิตฺโต (เพื่อนที่น่าเกลียด, น่าขยะแขยง ชื่อว่า กุมิตฺต) เป็นต้น เป็นกุปุพพบทกัมมธารยสมาส นอกจากนี้ กุ นิยมแปลง เป็น กทฺ สูตรว่า กทฺ กุสฺส. (รู ๓๔๖) อุทารหรณ์ เช่น กทนฺนํ (ข้าวที่น่ารังเกียจ), อทสนํ (อาหารที่น่ารังเกียจ) เป็นต้น, แปลง กุ เป็น กา (ในอรรถว่า น้อย) ด้วยสูตรว่า กาปฺปตฺเถสุ . (รู ๓๔๗) อุทาหรณ์ เช่น กาลวณํ (เกลือมีน้อย), กาปุปฺปํ (ดอกไม้มีจำนวนน้อย), กาปุริโส (บุรุษผู้น่ารังเกียจ) เป็นต้น


ทูรโต: (แต่ที่ไกล) ทูร+โต ปัจจัยใช้ในอรรถปัญจมีวิภัตติ

ปริวชฺชเย: (เว้นรอบ, เว้นให้ห่าง) ปริ+√วชฺช+ณย+เอยฺย จุราทิคณะ กัตตุวาจก


--


ลำดับนี้ ขอนำคาถานี้จากโลกนีติพร้อมคำแปลและคำโคลงอันไพเราะจากโลกนีติไตรพากย์ มาประกอบไว้ เพื่อความเป็นผู้ฉลาดในนิรุตติภาษาต่อไป ดังนี้


กุเทสญฺจ กุมิตฺตญฺจ, กุกุลญฺจ กุพนฺธวํ,

กุทารญฺจ กุทาสญฺจ, ทูรโต ปริวชฺชเย.


สถานที่ชั่ว มิตรชั่ว ครอบครัวชั่ว ทาสชั่ว

ภริยาชั่ว ทาสชั่ว เหล่านี้ ควรหลีกให้ห่าง.


ด้าวใดมิตรโหดร้าย--—หนึ่งสกุล ร้ายแฮ

พันธุ์เผ่าพงศ์ประยูร--ยิ่งร้าย

เมียร้ายทาสทารุณ--แรงโทษ

หกพวกนี้พึงผ้าย--ผ่อนเว้นแต่ไกล.



ลามกประเทศทั้ง--ทุรมิตร

อีกตระกูลเผ่าชิด--ชั่วร้าย

ภริยาทาสทุษจิต--จำพวก นี้พ่อ

ควรบุคคลพึงผ้าย--ผ่อนลี้หลีกหนี.



--


อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้



ประเทศชั่ว มิตรชั่ว ญาติชั่ว 

เผ่าพันธุ์ชั่ว ภริยาชั่ว พญาชั่ว 

เหล่านี้สูเจ้าจงเว้นให้ไกล.


--


อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..


ประเทศชั่ว เพื่อชั่ว ญาติชั่ว

เผ่าพันธุ์ชั่ว เมียชั่ว ท้าวพระยาชั่ว

เหล่านี้ สูเจ้าต้องเว้นให้ไกลลิบ.


--


Keine Kommentare: