๒๔๘. อย่าถือตัวในต่างถิ่น
ยตฺถ โปสํ* น ชานนฺติ, ชาติยา วินเยน วา;
น ตตฺถ มานํ กิริยา, ชเน วสมญฺญาตเก.
ในที่ใด ชนทั้งหลายยังไม่รู้จักเรา
โดยเชื้อชาติ หรือว่าโดยขนบธรรมเนียม
ในที่นั้น เราไม่ควรทำการถือตัว
ขณะอยู่ในหมู่ชน ที่ยังไม่รู้จักกัน.
(ธรรมนีติ อกตกถา ๒๔๘, มหารหนีติ ๒๔๔)
--
ศัพท์น่ารู้ :
ยตฺถ (ในที่ใด) ย+ถ ปัจจัยในอรรถสัตตมีวิภัตติ
โปสํ (บุรุษ, คน) โปส+อํ ในที่นี้แปลว่า เรา เพื่อให้เข้ากับสถานะการณ์ (* เดิมเป็น โวสํ ได้แก้เป็น โปสํ ตามในมหารหนีติ ซึ่งถือว่าถูกต้อง)
น (ไม่, หามิได้) นิบาตบอกปฏิเสธ
ชานนฺติ (รู้, ทราบ, เข้าใจ) √ญา+นา+อนฺติ กิยาทิ. กัตตุ.
ชาติยา (โดยชาติ, กำเนิด, เผ่าพันธ์ุ) ชาติ+นา
วินเยน (วินัย, มารยาท, ขนบธรรมเนียม) วินย+นา
วา (หรือ, และ) นิบาต
น (ไม, หามิได้)
ตตฺถ (ในที่นั้น) ต+ถ ปัจจัย
มานํ (การถือตัว, มานะ) มาน+อํ
กิริยา (การกระทำ, การประพฤติ) กริยา+สิ
ชเน (ในชน, หมู่คน) ชน+สฺมึ
วสมญฺญาตเก ตัดบทเป็น วสํ+อญฺญาตเก, วสํ = วสนฺโต (เมื่ออยู่, ขณะอยู่), น+ญาตก > อญฺญาตก+สฺมึ = อญฺญาตเก (ผู้ไม่รู้จักกัน, ไม่คุ้นเคยกัน, คนไม่ใช่ญาติ). ส่วนในมหารหนีติ เป็น „วสมญฺญาตเก ชเน“
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
ในสถานใด เขาไม่รู้จักบุรุษโดยชาติ แลโดย
วินัย สูเจ้าไม่พึงทำความถือตัวในสถานนั้น เมื่อ
สูเจ้าอยู่ในหมู่ชนผู้ไม่รู้จัก.
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..
ในสถานที่ใด ๆ เขาไม่รู้จักบุรุษโดยชาติและโดยวินัย
เจ้าไม่ควรทำที่ถือตัวในสถานที่เช่นนั้น
เมื่อสูเจ้าอยู่ในหมู่คนที่รู้จักเลย.
อกตกถา นิฏฺฐิตา
จบแถลงกิจไม่ควรทำ
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen