๒๔๗. ภาษิตเศรษฐี
นตฺถีติ วจนํ ทุกฺขํ, เทหีติ วจนํ ตถา;
วากฺยํ นตฺถีติ เทหีติ, มา ภเวยฺย ภวาภเว.
คำพูดว่า „ไม่มี“ และคำพูดว่า
„ท่านจงให้“ ดังนี้ เป็นทุกข์เหมือนกัน
ขอคำว่า ไม่มี และคำว่า ท่านจงให้
อย่าพึงมีแก่เราในทุกภพทุกชาติเลย.
(ธรรมนีติ อกตกถา ๒๔๗, มหารหนีติ ๒๒๒)
--
ศัพท์น่ารู้ :
นตฺถีติ (ว่า นตฺถิ, ว่าไม่มี) นตฺถิ+อิติ, น+อตฺถิ > นตฺถิ (มีอยู่หามิได้, ย่อมไม่มี)
วจนํ (คำพูด, ถ้อยคำ, พจน์) วจน+สิ นป.
ทุกฺขํ (เป็นทุกข์, ยาก, ลำบาก) ทุกฺข+สิ
เทหีติ วจนํ (คำพูด ว่า ขอท่านจงให้) เทหิ+อิติ, ทา√+อ+หิ วิภัตติ หมวดปัญจมี. ภูวาทิ. กัตตุ. เอกวจนะ (จงให้)
ตถา (อย่างนั้น, เหมือนกัน) นิบาต
วากฺยํ (คำพูด, พากย์) วากฺย+สิ
นตฺถีติ (ว่าไม่มี) เทหีติ (ว่าจงให้)
มา (อย่า, ไม่) นิบาตบอกปฏิเสธ
ภเวยฺย (พึงมี, พึงเป็น) √ภู+อ+เอยฺย ภูวาทิ. กัตตุ.
ภวาภเว (ในภพและมิใช่ภพ = ในภพน้อยและภพใหญ่) ภว+อภว > ภวาภว+สฺมึ
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
คำปฏิเสธว่า „ไม่มี“ ก็พูดยาก คำขอว่า „ให้
เถิด“ ก็พูดยากเช่นกัน พากย์ว่า „ไม่มี“ แล
„ให้เถิด“ นี้ขออย่าพึงมีในภพใหญ่น้อยเลย
[ภาษิตเศรษฐี].
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..
คำปฏิเสธว่า ไม่มี ก็พูดยาก
คำขอว่า จงให้เถิด ก็พูดยากเหมือนกัน
คำว่า ไม่มี และ ให้เถิดนี้
จงอย่าให้ได้พบเห็นในภพน้อยภพใหญ่เลย. (เศรษฐีพูด)
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen