๒๖๘. ผู้หลับไม่สนิท ๓
วเน มิคา น ลภนฺติ, มตาภยา นิทฺทสุขํ;
ราชาโนปิ น ลภนฺติ, อุตฺตรถามภีตโต;
สํสารภยภิเตน, น รมนฺติ เย ปณฺฑิตา.
ฝูงเนื้อในป่าหลับสนิทไม่ได้ เพราะกลัวตาย
แม้พระราชาหลับไม่สนิท เพราะกลัวศัตรูที่มีกำลังกว่า
แต่เหล่าบัณฑิตย่อมไม่รื่นรมย์ เพราะกลัวภัยในสงสาร.
(ธรรมนีติ ราชธรรมกถา ๒๖๘)
--
ศัพท์น่ารู้ :
วเน (ในป่า) วน+สฺมึ
มิคา (เนื้อ ท.) มิค+โย
น (ไม่, หามิได้) นิบาตบอกปฏิเสธ
ลภนฺติ (ย่อมได้) √ลภ+อ+อนฺติ ภูวาทิ. กัตตุ.
มตา (แต่ความตาย) มต+สฺมา
ภยา (เพราะกลัว) ภย+สฺมา หรือ มตาภยา เป็นจัดเป็นลุตตสมาส สมาสที่ไม่ต้องลบวิภัตติ? หรือว่าอาจจะแยกกันเป็น มตา ภยา.
นิทฺทสุขํ (สุขจากการหลับ, หลับสนิท) นิทฺทา+สุข > นิทฺทสุข+อํ (ให้รัสสะเพื่อรักษาฉันท์)
ราชาโนปิ ตัดบทเป็น ราขาโน+อปิ (แม้พระเจ้าแผ่นดิน, ฝ่ายพระราชา ท.) ราช+โย
อุตฺตรถามภีตโต (เพระกลัวต่อข้าศึกผู้ทีกำลังมาก, -มีกำลังเหนือกว่า) อุตฺตร+ถาม < อุตฺตรถาม+ภีต > อุตฺตรถามภีต+โต ปัจจัยใช้ในอรรถปัญจมีวิภัตติ
สํสารภยภิเตน (เพราะกลัวแต่ภัยในสังสาร) สํสาร+ภย > สํสารภย+ภีต > สํสารภยภีต+นา
รมนฺติ (ยินดี, รื่นรมย์) √รมุ+อ+อนฺติ ภูวาทิ. กัตตุ.
เย (เหล่าใด) ย+โย สัพพนาม
ปณฺฑิตา (บัณฑิต, นักปราชญ์ ท.) ปณฺฑิต+โย
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
ฝูงเนื้อในป่าย่อมไม่ได้ความหลับอย่างสนิท เพราะ
กลัวความตาย แม้พญาทั้งหลายก็ไม่ได้ผธมสนิท
เพราะเกรงอมิตรฝ่ายซึ่งมีกำลัง เหล่าบัณฑิตย่อม
ไม่เปรมปรีดิ์ เพราะกลัวภัยในสงสาร.
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..
ฝูงเนื้อในป่าก็หลับไม่ได้เพราะกลัวตาย
แม้ท้าวพระยาทั้งหลาย ก็บรรทมไม่สนิท เพราะเกรงศัตรูที่มีกำลังกว่า
แต่เหล่าบัณฑิตไม่รื่นรมย์เพราะกลัวภัยในสงสาร.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen