๒๗๐. ประพฤติแต่พอดี
ปริภูโต มุทุ โหติ, อติติกฺขญฺจ เวรวา;
เอตญฺจ อุภยํ ญตฺวา, อนุมชฺฌํ สมาจเร.
อ่อนโยนนัก มักถูกเขารังแก
เก่งกล้าเกินไป คนก็หมั่นไส้จองเวร
ผู้ฉลาดรู้เหตุทั้งสองอย่างนี้แล้ว
พึงประพฤติตนแต่พอดีเถิด.
(ธรรมนีติ ราชธรรมกถา ๒๗๐, มหารหนีติ ๑๙๑)
--
ศัพท์น่ารู้ :
ปริภูโต (ถูกดูหมิ่นแล้ว, ถูกสบประมาท) ปริ+√ภู+ต > ปริภูต+สิ
มุทุ (อ่อน, อ่อนโยน, นุ่ม, นุ่มนวล) มุทุ+สิ
โหติ (ย่อมเป็น, คือ) √หู+อ+ติ ภูวาทิ. กัตตุ.
อติติกฺขญฺจ ตัดบทเป็น อติติกฺขํ+จ (ฉลาดเกินไป, หัวแข็งเกิน + ด้วย) ติกฺข แปลว่า ฉลาด, คม, หลักแหลม. อติ+ติกฺข > อติติกฺข+สิ (?) ในมหารหนีติ เป็น อติติกฺโข จ เวรวา,
เวรวา (ที่มีเวร, มีความปองร้าย, มีความเกลียดชัง) เวร+วนฺตุ > เวรวนฺตุ+สิ = เวรวา.
เอตญฺจ ตัดบทเป็น เอตํ+จ (นั่น + ก็, และ, ด้วย) สัพพนาม + นิบาต
อุภยํ (ทั้งสอง) อุภย+อํ สัพพนาม
ญตฺวา (รู้, ทราบ, เข้าใจ) √ญา+ตฺวา > ญตฺวา+สิ
อนุมชฺฌํ (ตรงกลาง, พอเหมาะ, พอดี) อนุ+มชฺฌ > อนุมชฺฌ+อํ
สมาจเร (ประพฤติ, ปฏิบัติ) สํ+อา+√จร+อ+เอยฺย ภูวาทิ. กัตตุ.
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
เป็นคนอ่อนไปก็ถูกเขาข่ม แต่แข็งไปก็มีผู้จองเวร
ผู้รู้อำนาจเนื้อความทั้งสองนี้แล้ว พึงประพฤติให้
พอเหมาะพอดี.
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..
อ่อนนักมักถูกข่มแหง
แต่แข็งแกร่งก็จองเวรกัน
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว
ต้องประพฤติแต่พอดี.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen