๒๗๑. วางตัวแต่พอดี
เนกนฺตมุทุนา สกฺกา, เอกนฺตติขิเณน วา;
มหตฺเตฎฺฐปิตุํ อตฺตํ, ตสฺมา อุภยมาจเร.
บุคคลอ่อนโยนจนเกินไป
หรือกล้าแข็งจนเกินไป
ย่อมไม่อาจดำรงตนในความเป็นใหญ่ได้
เพราะฉะนั้น พึงประพฤติแต่พอดีเถิด.
(ธรรมนีติ ราชธรรมกถา ๒๗๑, มหารหนีติ ๑๙๒)
--
ศัพท์น่ารู้ :
เนกนฺตมุทุนา ตัดบทเป็น น+เอกนฺตมุทุนา (ไม่ + อ่อนโยนโดยส่วนเดียว, ทึมทื้อโดยส่วนเดียว) น (ไม่, หามิได้) นิบาตบอกปฏิเสธ, เอก+อนฺต > เอกนฺต (ที่สุดอย่างหนึ่ง, โดยส่วนเดียว, อย่างสุดโต่ง) + มุทุ (อ่อน, นุ่ม, สุภาพ) > เอกนฺตมุทุ+นา = เอกนฺตมุทุนา.
สกฺกา (อาจ, สามารถ) นิบาต
เอกนฺตติขิเณน (กล้าแข็งโดยส่วนเดียว, หลักแหลมโดยส่วนเดียว) เอกนฺต+ติขิณ > เอกนฺตติขิณ+นา
วา (หรือ, หรือว่า, และ) นิบาต
มหตฺเตฎฺฐปิตุํ แยกเป็น มหตฺเต (ในความเป็นใหญ่) + ฐปิตุํ (เพื่อตั้งไว้, เพื่ออันดำรงไว้) √ฐป+อิ+ตุํ > ฐปิตุํ
อตฺตํ (ตน, ตัวเอง) อตฺต+อํ, ส่วนในมหารหนีติ บาทคาถาที่ ๓ นี้ เป็น อตฺตํ มหนฺเต ฐเปตุํ (เพื่ออันดำรงตนไว้ในความเป็นใหญ่)
ตสฺมา (เพราะเหตุนั้น, เพราะฉะนั้น) ต+สฺมา สัพพนาม หรือ นิบาต ก็ว่า
อุภยมาจเร ตัดบทเป็น อุภยํ (ทั้งสอง)+อาจเร (พึงประพฤติ, ปฏิบัติ) อา+√จร+อ+เอยฺย ภูวาทิ. กัตตุ.
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
ผู้ที่อ่อนโดยส่วนเดียว หรือผู้ที่แข็งโดยส่วนเดียว
ไม่อาจดำรงตนในความเป็นผู้ใหญ่ได้ เหตุนั้นจึ่ง
ต้องประพฤติทั้งสองอย่าง.
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..
อ่อนเกินไปหรือแข็งเกินไปก็เป็นใหญ่ไม่ได้
เพราะเหตุนั้น ต้องประพฤติให้พอดีทั้งสองอย่าง.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen