๒๗๓. ผู้บริหารต้องรู้
เตสุ ทุพฺพลชาเตสุ, รฎฺฐํปิ ทุพฺพลํ สิยา;
สกรฎฺฐํ วิปุลํ ตสฺมา, ธาเรยฺย รฎฺฐภารวา.
เมื่อชนทั้ง ๔ เหล่านั้น อ่อนแอไร้กำลัง,
แม้ประเทศ ก็จะอ่อนแอไร้กำลังไปด้วย
เพราะฉะนั้น ผู้ปกครองประเทศ พึงดำรง
ประเทศของตนให้เจริญรุ่งเรืองเถิด.
(ธรรมนีติ ราชธรรมกถา ๒๗๓, มหารหนีติ ๑๖๕, กวิทัปปณนีติ ๒๗๑)
--
ศัพท์น่ารู้ :
เตสุ (เหล่านั้น) ต+สุ สัพพนาม
ทุพฺพลชาเตสุ (เกิดอ่อนกำลัง, เกิดอ่อนแอ, เกิดขาดแคลน) ทุ+พล > ทุพฺพล+ชาต > ทุพฺพลชาต+สุ
รฎฺฐมฺปิ ตัดบทเป็น รฏฺฐํ+อปิ (แม้รัฐ, -แว่นแคว้น, -บ้านเมือง, -ประเทศ)
ทุพฺพลํ (กำลังถดถอย, ไร้พลัง, อ่อนกำลัง) ทุพฺพล+สิ
สิยา (พึงมี, พึงเป็น) √อส+อ+เอยฺย ภูวาทิคณะ กัตตุวาจก
ตสฺมา (เพราะฉะนั้น, เพราะเหตุนั้น) ต+สฺมา สัพพนาม, หรือนิบาต ก็ว่า
สรฎฺฐํ (บ้านเมืองของตน, ประเทศ-, แว่นแคว้น-) สก+รฏฺฐ > สรฏฺฐ+อํ หรือ สห+รฏฺฐ > สรฏฺฐ+อํ = สรฏฺฐํ อาจแปลว่า เป็นไปกับด้วยแว่นแคว้น ก็ได้.
วิปุลํ (ไพบูลย์, กว้างใหญ่, เจริญรุ่งเรือง) วิปุล+อํ, ส่วนในกวิทัปปณนีติ เป็น ตสฺมา สรฏฺฐํ วิปุลํ. ในมหารหนีติ เป็น ตสฺมา รฏฺฐํปิ วิปุลํ.
ธารเย (พึงทรงไว้, แบก, หาม, ปกครอง) √ธร+ณย+เอยฺย จุราทิคณะ กัตตุรูวาจก (หรือเหตุกัตตุวาจก)
รฎฺฐภารวา: (ผู้มีรัฐเป็นภาระ, ผู้บริหารประเทศ) รฏฺฐ+ภาร > รฏฺฐภาร+วนฺตุ ปัจจัยในตทัสสัตถิตัทธิต > รฏฺฐภารวนฺตุ+สิ = รฏฺฐภารวา เอา นตุ กับ สิ วิภัตติเป็น อา ด้วยสูตรว่า อา สิมฺหิ. (รู ๙๘) วิ. รฏฺฐสฺส ภาโร อสฺส อตฺถีติ รฏฺฐภารวา (ผู้บริหารประเทศ ชือว่า รฏฺฐภารวา) รฏฐภาร+วนฺตุ ปัจจัย ตทัสสัตถิตัทธิต. ในมหารหนีติ เป็น รฏฺฐสารวา. (คงคลาดเคลื่อนมาจาก รฏฺฐภารวา)
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
เมื่อชนเหล่านั้นเกิดบกพร่องไป แม้แว่นแคว้นก็
พลอยบกพร่องไปด้วย เหตุนั้นผู้ปกครองแว่น-
แคว้นพึงดำรงแว่นแคว้นของตนไว้ให้ไพบูลย์.
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..
เมื่อชนทั้ง ๔ พวกนั้นถอยกำลังไป
แม้แว่นแคว้นก็จะพลอยด้อยไปด้วย
เพราะฉะนั้น ผู้ปกครองแคว้นต้องดำรง
แคว้นของตนไว้ให้ไพบูลย์.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen