๒๗๖. ผลไม้สุก
มหารุกฺขสฺส ผลิโน, ปกฺกํ ฉินฺทติ โย ผลํ;
รสญฺจสฺส วิชานาติ, พีชญฺจสฺส น นสฺสติ.
ต้นไม้ใหญ่มีผลสะพรั่ง
ผู้ใดสอยเอาผลไม้สุกไปกิน
ผู้นั้นย่อมรู้รสชาติที่แท้จริงของมัน
แถมพืชพันธุ์ของต้นไม้นั้นก็ไม่พินาศด้วย.
(ธรรมนีติ ราชธรรมกถา ๒๗๖, มหารหนีติ ๑๖๘, กวิทัปปณนีติ ๒๗๔ ขุ. ชา. ๒๘/๖๕ มหาโพธิชาดก)
--
ศัพท์น่ารู้ :
มหารุกฺขสฺส (ต้นไม้ใหญ่) มหนฺต > มหา+รุกฺข > มหารุกฺข+ส เพราะ ส วิภัตติ หลัง อการันต์ปุงลิงค์ ลง สฺ อาคม ด้วยสูตรว่า สาคโม เส. (รู ๘๖)
ผลิโน (มีผล) ผลี+ส หลัง อี การันต์ปุงลิงค์ แปลง ส เป็น โน ได้บ้าง ด้วยสูตรว่า ฌลโต สสฺส โน วา. (รู ๑๒๔) วิ. ว่า..ผลํ อสฺส อตฺถีติ ผลี. (ผลมีอยู่แก่ต้นไม้นั้น เหตุนั้น ต้นไม้นั้น ชื่อว่า มีผล) ผล+อี ปัจจัยในตทัสสัตถิตัทธิต.
ปกฺกํ (ที่สุก, สุก) ปกฺก+อํ
ฉินฺทติ (ตัด, เก็บ, สอย) √ฉิทิ+อ+ติ+นิคคหิตอาคม รุธาทิคณะ กัตตุวาจก
โย (ผู้ใด) ย+สิ สัพพนาม
ผลํ (ผล) ผล+อํ
รสญฺจสฺส: ตัดบทเป็น รสํ+จ+อสฺส (และรสแห่งต้นไม้นั้น), อสฺส วิเสสนะของ ผลสฺส
วิชานาติ: (รู้, ทราบ) วิ+√ญา+นา+ติ กิยาทิคณะ กัตตุวาจก
พีชญฺจสฺส: ตัดบทเป็น พึชํ+จ+อสฺส (และพืชพันธุ์แห่งต้นไม้นั้น) อสฺส วิเสสนะ รุกฺขสฺส
น (ไม่, หามิได้) นิบาตบอกปฏิเสธ
นสฺสติ: (พินาศ, ขาดสูญ) √นส-นาเส+ย+ติ ทิวาทิคณะ เอา ย ปัจจัยกับที่สุดธาตุ เป็นปุพพรูป ด้วยสูตรว่า ตถา กตฺตริ จ. (รู ๕๑๑)
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
ต้นไม้ใหญ่มีผลสะพรั่ง
ผู้ใดตัดเอาผลสุกไป
เขาก็จะได้ชิมรสของผลไม้นั้น
แลพืชของต้นไม้นั้นก็ไม่สูญ.
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..
ต้นไม้ใหญ่มีผลสะพรั่ง
ผู้ใดสอยเอาผลสุกไปกิน
เขาก็ได้ลิ้มรสอันแท้จริงของผลไม้นั้น
แถมยังได้พันธุ์ของต้นไว้สืบอีกด้วย.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen