๒๘๑. ผิดทางสวรรค์
ตเถว อิสโย หึสํ, สํยเม พฺรหฺมจาริโย;
อธมฺมจารี ขตฺติโย*, ส สคฺเคน วิรุชฺฌติ.
เหมือนอย่างนั้น พระราชาพระองค์ใด
ผู้ไม่ประพฤติธรรม เบียดเบียนบรรพชิต
ผู้แสวงหาคุณ ผู้สำรวมประพฤติพรหมจรรย์
พระราชาพระองค์นั้น ชื่อว่าผิดทางสวรรค์.
(ธรรมนีติ ราชธรรมกถา ๒๘๑, มหารหนีติ ๑๗๓, ขุ. ชา. ๒๘/๖๕ มหาโพธิชาดก)
--
ศัพท์น่ารู้ :
ตเถว ตถา+เอว (เหมือนอย่างนั้นนั่นเทียว, อย่างที่กล่าวมาแล้วทีเดียว) สมูหนิบาต
อิสโย (ฤาษี, นักบวช, ผู้แสวงหาคุณอันประเสริฐ, บรรพชิต ท.) อิสิ+โย
หึสํ = หึสนฺโต (เบียดเบียนอยู่) หึสนฺต+สิ
สํยเม (ผู้สำรวม) สํยม+โย
พฺรหฺมจาริโย (ผู้มีปกติประพฤติพรมหจรรย์) พฺรหฺม+จารี > พฺรหฺมจารี+โย
อธมฺมจารี (ผู้มีปกติไม่ประพฤติธรรม) น+ธมฺมจารี > อธมฺมจารี+สิ
ขตฺติโย (กษัตริย์, ราชา, พญา, พระเจ้าแผ่นดิน) ขตฺติย+สิ * เดิมติดกันเป็น อธมฺมจาริขตฺติโย แก้แยกใหม่เป็น อธมฺมจารี ขตฺติโย ตามในพระบาฬี.
ส = โส (นั้น) ต+สิ สัพพนาม
สคฺเคน (สวรรค์) สคฺค+นา
วิรุชฺฌติ (ผิด, กำเริบ, คลาดเคลื่อน, พิรุธ) วิ+รุธ+ย+ติ ทิวาทิ. กัตตุ.
ส่วนในพระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ ท่านแปลไว้ดังนี้
@ พระราชาพระองค์ใดผู้ไม่ประพฤติธรรม
เบียดเบียนบรรพชิตผู้แสวงหาคุณ
ผู้สำรวมประพฤติพรหมจรรย์
พระราชาพระองค์นั้น ย่อมคลาดเคลื่อนจากสวรรค์.
สรุปว่า ตั้งแต่คาถาที่ ๒๗๖ ถึงคาถานี้ มาในพระบาฬีชาดก มหาโพธิชาดก ผู้สนใจควรตามไปค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อความเป็นพหูสูตรให้ยิ่งขึ้นไปเถิด.
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
อนึ่ง พญาใดเป็นกษัตริย์ประพฤติไม่ถูกธรรม
เบียดเบียฬนักพรตผู้สำรวม ประพฤติพรหมจรรย์
พญานั้นย่อมชื่อว่าผิดทางสวรรค์.
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..
พระมหากษัตราธิราชทรงประพฤติอธรรม
เบียดเบียนสมณะพราหมณาจารย์ผู้มีศีล
มีความสำรวมดี พระมหากษัตริย์พระองค์นั้น
ชื่อว่าทรงประพฤติผิดต่อสวรรค์.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen