๒๘๙. เมื่อทรงไว้พระทัย
ยทา สีลญฺจ ปญฺญญฺจ, โสเจยฺยญฺจาธิคจฺฉติ;
อถ วิสาสิโต ตมฺหิ, คุยฺหญฺจสฺส น รกฺขติ.
เมื่อใด พระเจ้าอยู่หัวทรงพอใจศีล ความรู้
และความซื่อสัตย์ของข้าเฝ้านั้น, เมื่อนั้น
พระองค์จะทรงสนิทสนมในข้าเฝ้านั้น
และไม่หวงแหนความลับแก่ข้าเฝ้านั้นด้วย.
(ธรรมนีติ ราชเสวกกถา ๒๘๙, ขุ. ชา. ๒๘/๙๕๘ วิธุรชาดก)
--
ศัพท์น่ารู้ :
ยทา (ในกาลใด) ย+ทา ปัจจัยในอรรถกาลสัตตมี ได้บ้าง ด้วยสูตรว่า กึสพฺพญฺเญกยกุหิ ทาทาจนํ. (รู ๒๗๖)
สีลญฺจ ตัดบทเป็น สีลํ+จ
ปญฺญญฺจ ตัดบทเป็น ปญฺญํ+จ
โสเจยฺยญฺจาธิคจฺฉติ ตัดบทเป็น โสเจยฺยํ (ความสะอาด)+จ (ด้วย, และ)+อธิคจฺฉติ (บรรลุ, ถึง, ทราบ), อธิ+√คมุ+อ+ติ = อธิคจฺฉติ ภูวาทิ. กัตตุ. แปลง ม ที่สุดธาตุ เป็น จฺฉ ได้บ้างในวิภัตติทั้งปวง ด้วยสูตรว่า คมิสฺสนฺโต จฺโฉ วา สพฺพาสุ. (รู ๔๔๒)
อถ (แต่นั้น, ลำดับนั้น, ในกาลนั้น) นิบาต
วิสาสิโต (สนิทสนม, คุ้นเคยแล้ว) วิ+√สาส+อิ+ต > วิสาสิต+สิ ในพระบาฬีเป็น วิสาสิเต.
ตมฺหิ (ใน..นั้น) ต+สฺมึ สัพพนาม
คุยฺหญฺจสฺส ตัดบทเป็น คุยฺหํ (ความลับ)+จ (และ, ด้วย)+อสฺส (แก่..นั้น)
น (ไม่, หามิได้) นิบาต
รกฺขติ (รักษา, คุ้มครอง, หวงแหน) √รกฺข+อ+ติ ภูวาทิ. กัตตุ.
คาถานี้ในพระบาฬี ขุ. ชา. ๒๘/๙๕๘ วิธุรชาดก เป็น
ยทาสฺส สีลํ ปญฺญญฺจ, โสเจยฺยญฺจาธิคจฺฉติ;
อถ วิสฺสาสเต ตมฺหิ, คุยฺหญฺจสฺส น รกฺขติ.
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
เมื่อใด ท้าวเธอสอดส่องเห็นศีล แลปัญญา
แลความซื่อสวามิภักดิ์ (ของข้าเฝ้านั้น) เมื่อนั้น
ท้าวเธอจะสนิทสนมในข้าเฝ้านั้น แลจะไม่ปิด
ความลับสำหรับข้าเฝ้านั้น.
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..
เมื่อใด พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบความประพฤติ
ความรู้ ความสามารถ และความสุจริต
เมื่อนั้นก็จะทรงวางพระทัย ไม่ทรงรังเกียจ
จนถึงความลับก็ปล่อยได้ ไม่ต้องระวัง.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen