๒๙๐. ผู้ฉลาดในราชกิจ
ทิวา วา ยทิ วา รตฺตึ, ราชกิจฺเจสุ ปณฺฑิโต;
อชฺฌิฏฺโฐ น วิกปฺเปยฺย, ส ราชวสตึ วเส.
ราชเสวกต้องเป็นคนฉลาดในราชกิจ
เมื่อถูกตรัสใช้กลางวันหรือกลางคืนก็ตาม
ไม่พึงหวั่นในการกระทำราชกิจนั้น ๆ
ราชเสวกนั้น พึงอยู่ในราชสำนักได้.
(ธรรมนีติ ราชเสวกกถา ๒๙๐, ขุ. ชา ๒๘/๙๖๐ วิธุรชาดก)
--
ศัพท์น่ารู้ :
ทิวา วา (กลางวันหรือ) นิบาต
ยทิ วา (หรือว่า) นิบาต
รตฺตึ (กลางคืน) รตฺติ+อํ อิต.
ราชกิจฺเจสุ (ในกิจแห่งพระราชา ท.,ในราชกิจ ท.) ราช+กิจฺจ > ราชกิจฺจ+สุ
ปณฺฑิโต (บัณฑิต, ผู้มีปัญญา, คนฉลาด) ปณฺฑิต+สิ
อชฺฌิฏฺโฐ (ถูกเชื้อเชิญ, ถูกปรารถนา, ถูกเรียกใช้งาน) อธิ +√อิสุ+ต > อชฺฌิฏฺฐ+สิ แปลงที่สุดธาตุกับ ต ปัจจัยเป็น ฏฺฐ ได้บ้าง ด้วยสูตรว่า สาทิ สนฺตปุจฺฉภนฺชหํสาทีหิ ฏฺโฐ. (รู ๖๒๖) แปลง อธิ เป็น อชฺฌ ด้วยสูตรว่า อชฺโฌ อธิ. (รู ๒๕)
น (ไม่, หามิได้) นิบาต
วิกปฺเปยฺย (สั่นคลอน, หวั่นไหว) วิ+√กปิ+อ+เอยฺย ภูวาทิ. กัตตุ.
ส = โส (นั้น, เขา) ต+สิ สัพพนาม
ราชวสตึ (การอยู่ในราชสกุล) ราช+วสติ > ราชวสติ+อํ
วเส (พึงอยู่) √วส+อ+เอยฺย ภูวาทิ. กัตตุ.
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
กลางวันหรือกลางคืนก็ตามที ข้าเฝ้าที่ฉลาดถูก
บัญชาทางราชการแล้ว ไม่พึงบิดเบือน เขาก็พึง
อยู่ร่วมสำนักกับพระราชาได้.
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..
เป็นราชเสวก ต้องฉลาดในราชกิจน้อยใหญ่
เมื่อราชกิจเกิดขึ้น ไม่ว่าเวลาใด
ตรัสใช้กลางวันหรือกลางคืนก็ตาม
ไม่ควรหวั่นหวาด ต้องให้ราชกิจนั้นสำเร็จตามประสงค์.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen