๒๙๕. อย่าขี้เซาและเมามาย
น นิทฺทํ พหุ มญฺเญยฺย, น มทาย สุรํ ปิเว;
นาสฺส ทาเย มิเค หญฺเญ, ส ราชวสตึ วเส.
เป็นราชเสวกไม่พึงนอนมากเกิน
ไม่พึงดื่มสุราจนหัวราน้ำ
ไม่พึงฆ่าสัตว์ในเขตที่ทรงอภัยทาน
ราชเสวกผู้เช่นนั้น พึงอยู่ในราชสำนักได้.
(ธรรมนีติ ราชเสวกกถา ๒๙๕, ขุ. ชา ๒๘/๙๖๓ วิธุรชาดก)
--
ศัพท์น่ารู้ :
น (ไม่, หามิได้) นิบาตบอกปฏิเสธ
นิทฺทํ (การหลับ, การนอน, นิทรา) นิทฺทา+อํ อิต.
พหุ, พหุํ (มาก, บ่อย, นาน) พหุ+อํ (เดิมเป็น พหุํ ได้แก้เป็น พหุ ให้ตรงตามพระบาฬี)
มญฺเญยฺย (รู้, สำคัญหมาย) √มน+ย+เอยฺย ทิวาทิ. กัตตุ.
น (ไม่, หามิได้)
มทาย (เพื่อให้เมามาย, ความมัวเมา) มท+ส ป. แปลง ส วิภัตติเป็น อาย ได้บ้าง ด้วยสูตรว่า อาย จตุตฺเถกวจนสฺส ตุ. (รู ๓๐๔)
สุรํ (สุรา, นำ้เมา, นำ้เปลี่ยนนิสัย) สุรา+อํ อิต.
ปิเว (ดื่ม, ชด,ถอง) √ปา+อ+เอยฺย ภูวาทิ. กัตตุ. แปลง ปา เป็น ปิพ ได้บ้าง ด้วยสูตรว่า ปา ปิโพ. (รู ๔๙๔), แปลง พ เป็น ว ด้วยมหาสูตร กฺวจิ ธาตุ ฯ. (๔๘๘)
นาสฺส ตัดบทเป็น น+อสฺส (ไม่+ของพระราชานั้น) เดิมเป็น นาส ได้แก้เป็น นาสฺส ให้ตรงตามพระบาฬี.
ทาเย (เขตที่ให้อภัยทานแก่สัตว์) ทาย+สฺมี
มิเค (เนื้อ ท. ฝูงเนื้อ) มิค+โย
หญฺเญ (เบียดเบียน, ฆ่า, สังหาร, กำจัด) √หน+ย+เอยฺย ทิวาทิ. กัตตุ.
ส ราชวสตึ วเส (เขาพึงอยู่ในราชสำนักได้)
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
สูไม่พึงนอนมาก ไม่พึงดื่มสุราจนเมา
หมู่มฤคที่ท่านท้าวเธอให้อภัยก็อย่าฆ่า
(เช่นนี้) จึ่งอยู่ในราชสำนักได้.
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..
เป็นราชเสวก อย่าเห็นแก่หลับนอนให้มากนัก
จะชักให้เป็นคนเกียจคร้านและปล่อยหน้าที่ราชการให้เสียด้วย
อย่าดื่มสุราจนเมามายทำให้ขายพระบาทา
อย่าฆ่ามฤคีที่พระราชทานอภัยให้เป็นที่ขุ่นเคืองพระราชทัย
โดยฝืนพระราชกำหนด และขาดคารวะ.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen