๓๐๗. พูดได้พูดดี
อโกธโน อสงฺฆฏฺโฎ, สจฺโจ สณฺโห อเปสุโณ;
สมฺผํ คิรํ น ภาเสยฺย, ส ราชวสตึ วเส.
ราชเสวกพึงเป็นคนไม่มักโกรธ ไม่กระทบกระเทียบ
เป็นคนพูดคำจริง อ่อนหวาน ไม่ส่อเสียด
ไม่ควรพูดคำเพ้อเจ้อ ไร้สาระ
ราชเสวกนั้น พึงอยู่ในราชสำนักได้.
(ธรรมนีติ ราชเสวกกถา ๓๐๗, ๗๒, ขุ. ชา ๒๘/๙๖๖ วิธุรชาดก)
--
ศัพท์น่ารู้ :
อโกธโน (ไม่โกรธ, ไม่ฉุนเฉียว) น+โกธน > อโกธน+สิ
อสงฺฆฏฺโฎ (ไม่กระทบกระทั่ง, ไม่เสียดสี) น+สงฺฆฏฺฏ > อสงฺฆฏฺฏ+สิ
สจฺโจ (จริง, สัตย์) สจฺจ+สิ
สณฺโห (เกลี้ยงเกลา, อ่อน, นุ่ม, สุภาพ) สณฺห+สิ
อเปสุโณ (ไม่พูดส่อเสียด) น+ปิสุณ, เปสุณ > อเปสุณ+สิ
สมฺผํ (เหลาะแหละ) สมฺผ+อํ
คิรํ (ถ้อยคำ, คำพูด) คิร+อํ
น ภาเสยฺย (ไม่ควรกล่าว, ไม่ควรพูด) √ภาส+อ+เอยฺย ภูวาทิ. กัตตุ.
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
ไม่เป็นคนฉุนง่าย ไม่กระทบกระทั่งใคร ๆ ซึ่งตรง
ละเอียด ไม่เป็นคนส่อเสียด ไม่กล่าวคำเพ้อเจ้อ
จึ่งอยู่ในราชสำนักได้.
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..
เป็นราชเสวก ต้องอดทนไม่เป็นคนฉุนเฉียวโกรธง่าย
อย่าพูดกระทบกระเทียบเปรียเปรยท่านให้รำคาญเลย
รักษาสัตย์ระวังถ้อยคำมิให้วิบัติจากความเป็นจริง
เป็นคนละเอียดกล่าวถ้อยคำละเมียดละไมนุ่มนวลควรดื่มไว้ในใจ
ไม่เป็นคนส่อเสียดเดียดฉันท์ก่อความบาดหมางแก่หมู่คณะ
ไม่พูดเพ้อเจ้อทำตนให้เป็นคนเหลวไหล ปราศรัยแต่ที่มีหลักมั่น.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen