๓๑๗. คนชั่วไม่ควรเป็นใหญ่
ปุตฺตํ วา ภาตรํ วาปิ, สีเลสุ อสมาหิตํ;
อนงฺควา หิ เต พาลา, ยถา เปตา ตเถว เต;
โจฬญฺจ เนสํ ปิณฺฑญฺจ, *อาสีนานํ ปทาปเร.
ราชเสวกไม่ควรตั้งบุตรธิดา พี่น้อง หรือวงศ์ญาติ
ผู้ไม่ตั้งอยู่ในศีลให้เป็นใหญ่ เพราะคนเหล่านั้นเป็นคนพาล
ไม่จัดว่าเป็นพี่น้อง คนเหล่านั้นเป็นเหมือนคนที่ตายแล้ว
แต่หากพวกเขามาหา ก็เพียงให้ผ้านุ่งห่มและอาหาร.
(ธรรมนีติ ราชเสวกกถา ๓๑๗, ขุ. ชา ๒๘/๙๗๐ วิธุรชาดก)
--
ศัพท์น่ารู้ :
ปุตฺตํ วา (ซึ่งบุตรธิดาหรือ) ปุตฺต+อํ, วา ศัพท์เป็น นิบาต
ภาตรํ วาปิ (แม้หรือว่าซึ่งพี่ชายน้องชาย, พี่น้อง) ภาตุ+อํ, (ในฉัฏฐสังคายนาและสยามรัฐ เป็น : วา สํ หมายถึง ของตน),
สีเลสุ (ในศีล ท. ในคุณงามความดี ท.) สีล+สุ
อสมาหิตํ (ผู้ไม่ตั้งมั่น) น+สมาหิต > อสมาหิต+อํ
อนงฺควา (ผู้ไม่ใช่องค์, มิใช่ญาติพี่น้อง) ส่วนในฉบับรัฐสยามรัฐ เป็น : อนงฺคาว. ศัพท์ว่า อนงฺควา ขอฝากไว้ก่อนครับ.
หิ (จริงอยู่, ที่แท้) นิบาต
เต (เหล่านั้น) ต+โย สัพพนาม
พาลา (พาล ท., พวกคนพาล, เหล่าคนพาล) พาล+โย
ยถา (ฉันใด) นิบาตบอกอุปมา
เปตา (เปรต ท.) พวกคนที่ตายแล้ว) เปต+โย
ตเถว = ตถา+เอว (ฉันนั้นนั่นเทียว) นิบาตบอกอุปไมย
เต (เหล่านั้น)
โจฬญฺจ = โจฬํ+จ (ท่อนผ้า, เสี้อผ้า+ด้วย)
เนสํ (แก่....เหล่านั้น) ต+นํ สัพพนาม
ปิณฺฑญฺจ = ปิณฺฑํ+จ (ก้อนข้าว,อาหาร+ด้วย) ปิณฺฑ+อํ ,
อาสีนานํ (นั่งแล้ว) อาสีน+นํ อรรถกถาท่านแก้เป็น อาคนฺตวา นิสินฺนานํ ปุตฺตภาตานํ มตสตฺตานํ มตกภตฺตํ วิย เทนฺโต ฆาสจฺฉาทนมตฺตเมว ปทาเปยฺย ฯ.
(* เดิมเป็น อาสนญฺจ (ซึ่งที่นั่งด้วย) ได้แก้เป็น อาสีนานํ เพื่อให้ตรงตามพระบาฬีทั้งสองฉบับ)
ปทาปเร (ให้คนเอาให้, ใช้ให้เขาให้) ป+ทา+ณาเป+อนฺติ ภูวาทิ. กัตตุ. (แต่ในพระบาฬีฉบับฉัฏฐสังคายนาและสยามรัฐ เป็น : ปทาปเย = พึงยังบุคคลให้ให้, สั่งคนให้)
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
บุตรหรือพี่น้องก็ตาม ผู้ไม่ตั้งมั่นในศีล (พึงสอน
ให้ตั้งมั่น) แท้จริงชนเหล่านั้น หากเป็นคนโง่
ก็เหมือนไม่มีตัวอยู่ เปรตฉันใด มันก็ฉันนัน [เหตุนั้น]
อย่าให้ผ้าและอาหารแลอาสนะ แก่ชนเหล่านั้นก่อน ฯ
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..
ลูกเต้า พี่น้อง วงศาคณาญาติที่ไม่ตั้งอยู่ในศีลาจารวัตร
ไม่ควรยกย่องให้เป็นใหญ่ปกครองหมู่คณะ
เพราะเขาประพฤติเป็นคนพาล
จัดว่าไม่ใช่อังคาพยพที่กล่าวกันว่าเป็นญาติ
เป็นเหมือนคนที่ตายไปแล้ว เพราะความห้าวของเขา
ไม่ควรยกย่อง เพราะคนที่ผลาญทรัพย์ให้พินาศไม่อาจยัง
ราชกิจให้บริบูรณ์ได้ เมื่อมาถึงสำนัก ก็ไม่ควรให้
ผ้านุ่งห่มและอาหารพอเลี้ยงชีพ.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen