๒๓. ทุกาทิมิสสกกถา - แถลงอากัปประมวญเป็นสองเป็นต้น
๓๒๔. หนามชีวิต
เทฺววิเม กณฺฑกา ติกฺขา, สรีรปริโสสิตา;
กาเมติ นิทฺธโน โย จ, โย จ กุปฺปตฺยนิสฺสโร.
หนามสองอย่างเหล่านี้ที่แหลมคม
และเสียดแทงสรีระให้ซูบซีด คือ
คนไม่มีทรัพย์ ชอบจับจ่ายใช้สอย
คนไม่มีอำนาจ ชอบกำเริบ.
(ธรรมนีติ ทุกาทิมิสสกกถา ๓๒๔ มหารหนีติ ๑๒๐)
--
ศัพท์น่ารู้ :
เทฺววิเม = เทฺว+เอว+อิเม (สอง+นั่นเทียว+เหล่านี้)
กณฺฑกา (หนาม) กณฺฑก+โย
ติกฺขา (คม, กล้า, แข็ง) ติกฺข+โย
สรีรปริโสสิตา (ทำให้ร่างกายซูบซีด, -เหี่ยวแห้งโดยรอบ) สรีร+ปริโสสิต > สรีรปริโสสิต+โย
กาเมติ (ใคร่, กำหนัด, ยาก, ต้องการ) กมุ+เณ+ติ จุราทิ. กัตตุ.
นิทฺธโน (คนไร้ทรัพย์, ยากจน) นิ+ธน > นิทฺธน+สิ
โย (ใด, ผู้ใด) ย+สิ สัพพนาม
จ (ด้วย, และ) นิบาต
กุปฺปตฺยนิสฺสโร ตัดบทเป็น กุปฺปติ+อนิสฺสโร, กุปฺปติ (กำเริบ, โกรธ, ข่มขู่ + ไม่เป็นใหญ่, ไม่มีอำนาจ) กุป+ย+ติ ทิวาทิ. กัตตุ. แปลง ย กับที่สุดธาตุเป็น ปฺ และเป็นปุพพรูป ป ด้วยสูตรว่า ยถา กตฺตริ จ. (รู ๕๑๑),
อนิสฺสโร (ไม่เป็ออิสระ, ไม่เป็นใหญ่, ไม่มีอำนาจ) น+อิสฺสร > อนิสฺสร+สิ = อนิสฺสโร.
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
ทุด! ทุด! หนามสองเล่มนี้คมแท้ ยอกยักอยู่ทั่วตัว
คือคนไร้ทรัพย์แต่เห่อกาม แลคนทรามอำนาจกลับขู่ ฯ
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..
ทุด ! ทุด ! หนามสองเล่มนี้คมแท้
ยอกยักอยู่ทั่วตัว คือ คนไร้ทรัพย์กลับบ้ากาม
และคนทรามอำนาจแต่กลับกำเริบ.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen