๓๒๕. ลักษณะคนเลว
อธนสฺส รสํ ขาทา, อพลสฺส หตา นรา;
อปญฺญสฺส กถาวากฺยา, ติวิธํ หีนลกฺขณํ.
ไม่มีทรัพย์ ชอบกินของแพง,
ไม่มีแรง ชอบปล้ำรังแกเขา
ปัญญาเขลา ชอบพูดจาเล่นสำนวน
ทั้งสามนี้ เป็นลักษณะของคนเลว.
(ธรรมนีติ ทุกาทิมิสสกกถา ๓๒๕, กวิทัปปณนีติ ๑๐๐, โลกนีติ ๑๐)
--
ศัพท์น่ารู้ :
อธนสฺส (ของคนไม่มีทรัพย์, คนจน) น+ธน > อธน+ส วิ. นตฺถิ เอตสฺส ธนนฺติ อธโน, ปุริโส. (ทรัพย์ ของบุรุษนั้น ย่อมไม่มี เพราะเหตุนั้น บุรุษนั้น ชื่อว่า อธนะ -คนไร้ทรัพย์) นนิปาตปุพพบท ฉัฏฐีพหุพพีหิสมาส
รสํขาทา (การเคี้ยวกินสิ่งมีรส, -ของอร่อย) รส+ขาท > รสํขาท+โย (หรือถ้าเป็นอิตถีลิงค์ คงเป็น รสํขาทา+สิ)
อพลสฺส (ของคนไม่มีแรง, ไม่มีกำลัง) น+พล > อพล+ส, วิ. นตฺถิ เอตสฺส พลนฺติ อพโล, ปุริโส. (กำลัง ของบุรุษนั้น ย่อมไม่มี เหตุนั้น บุรุษนั้น ชือว่า อพละ – คนไม่มีกำลัง) นนิปาตปุพพบท ฉัฏฐีพหุพพีหิสมาส
หตา (เบียดเบียน, ต่อสู้) หต+โย มาจาก หน-หึสาคตีสุ+ต ปัจจัยในกิตก์
นรา (คน, นรชน ท. ) นร+โย, (หมายเหตุ: เดิมเป็น หตาหตา, ได้แก้ใหม่เป็น หตา นรา.
อปฺปญฺญสฺส (คนไม่มีปัญญา, ขาดปัญญา, คนเขลา, คนโง่) อปฺปญฺญ+ส, วิ. นตฺถิ เอตสฺส ปญฺญาติ อปฺปญฺโญ, ปุริโส. (ปัญญา ของบุรุษนั้น ย่อมไม่มี เหตุนั้น บุรุษนั้น ชื่อว่า อัปปญญะ – คนไร้ปัญญา) นนิปาตปุพพบท ฉัฏฐีพหุพพีหิสมาส
กถาวากฺยา (กถาพากย์, สำนวนคำพูด, ชอบโม้, ขี้คุย) กถา+วากฺย > กถาวากฺย+โย
ติวิธํ (สามประการ) ติ+วิธ > ติวิธ+สิ
หีนลกฺขณํ (ลักษณะที่เลว, -ชั่ว, -ต่ำ) หีน+ลกฺขณ > หีนลกฺขณ+สิ
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
คนไร้ทรัพย์กลับกินของดี
คนอ่อนกำลังตั้งประจญเขา
คนอับปัญญาเจรจาอวดฉลาด
สามประเภทนี้มีลักษณะเลว.
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..
คนจนทรัพย์แต่กลับกินของแพง
คนอ่อนแรงแต่กลับตั้งประจญเขา
คนโฉดเขลา (โง่แกมหยิ่ง) แต่กลับอวดฉลาด
แต่สามอย่างนี้เป็นลักษณะเลวแท้.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen