Donnerstag, 21. Dezember 2023

๓๙๐. บัณฑิตนักประพันธ์

๓๙๐. บัณฑิตนักประพันธ์


โปตฺถกาทีนิ เขตฺตํว, เลขานิ ยุคนงฺคลํ;

อกฺขรานิ พีชํ กตฺวา, จรนฺโต ปณฺฑิโต ภเว.


บัณฑิตผู้ฉลาดพึงทำกระดาษให้เป็นดุจนา

ทำเครื่องเขียนทั้งหลายให้เป็นแอกและไถ

ทำอักษรตัวทั้งหลายให้เป็นเหมือนพืชพันธุ์

แล้วพึงประพฤติตนอยู่เถิด.


(ธรรมนีติ ปกิณณกกถา ๓๙๐)


--


ศัพท์น่ารู้ : 


โปตฺถกาทีนิ (หนังสือ-, ใบลาน-, ผ้าเปลือกไม้ เป็นต้น .) โปตฺถก+อาทิ > โปตฺถกาทิ+โย, อาทิศัพท์อาจหมายเอา กระดาษ, สมุด เป็นอาทิ.

เขตฺตํว = เขตฺตํ+เอว, หรือ +อิว, (ให้เป็นนานั่นเทียว, ให้เป็นดุจนานั่นเทียว) เขตฺต+อํ, คำว่าให้เป็น  เป็นสำนวนแปลที่มากิริยาศัพท์ว่า กตฺวา (กระทำแล้ว) ที่เข้ากับ กร ธาตุ เรียกชื่อทางสัมพันธ์ว่า วิกติกรรม กรรมที่ถูกทำให้เปลี่ยนไป กล่าวคือ ทำหนังสือให้เป็น นา, ทำเหล็กจานให้เป็นงอนไถ, ทำอักษรให้เป็น พืชพันธุ์, ข้าวปลูก เป็นตัวอย่าง.

เลขานิ (เครื่องเขียน, ปากกา, ดินสอ, เหล็กจาน .) เลข+โย นป., ศัพท์ที่คล้ายกัน : เลขา (ตัวอักษร, แถว, แนว) อิต., เลขก (คนเขียน, เสมียน, เลขา) ., เลขนี (ปากกา, ดินสอ) อิต.

ยุคนงฺคลํ (แอกและไถ) ยุค+นงฺคล > ยุคนงฺคล+อํ, ยุค แปลว่า คู่, แอก, คราว, สมัย ก็ได้.

อกฺขรานิ (อักษร, ตัวหนังสือ .) อกฺขร+โย

พีชํ  (พืชพันธุ์, ข้าวปลูก) พีช+อํ

กตฺวา (กระทำแล้ว) √กร+ตฺวา > กตฺวา กิตก์กิริยา

จรนฺโต (ประพฤติอยู่) √จร++อนฺต > จรนฺต+สิ กิตก์กิริยา

ปณฺฑิโต (บัณฑิต, ผู้มีปัญญา, นักปราชญ์) ปณฺฑิต+สิ

คำว่า ปณฺฑิต มาจาก ปณฺฑา+อิต หมายถึง บุคคลที่เป็นไปด้วยปัญญา, ปณฺฑา วิเคราะห์ศัพท์ว่า สุขุเมสุปิ อตฺเถสุ ปณฺฑติ คจฺฉติ, ทุกฺขาทีนํ ปีฬนาทิกํปิ อาการํ ชานาตีติ ปณฺฑา. (ธรรชาติที่ถึงในอรรถแม้ที่สุขุมลุ่มลึก คือ รู้อาการมีการบีบคั่นแห่งทุกข์เป็นต้น ชื่อว่า ปณฺฑา. (ปฑิ คติยํ+ ปัจจัย + อา อิตถีลิงค์ปัจจัย), ปณฺฑาย อิโต คโค ปวตฺโตติ ปณฺฑิโต. (ผู้เป็นไปด้วยปัญญาที่ชือว่าปัณฑา ชื่อว่า บัณฑิต) ตติยาตัป. หรือ วิ. สญฺชาตา ปณฺฑา เอตสฺสาติ ปณฺฑิโต. (ปัญญา ชื่อว่า ปัณฑา ของผู้นี้ เกิดพร้อมแล้ว เหตุนั้น ผู้นี้ จึงชื่อว่า บัณฑิต), หรือ วิ. ปณฺฑติ ญาณคติยา คจฺฉตีติ ปณฺฑิโต.  (ผู้ชื่อว่า บัณฑิต เพราะดำเนิน คือไปด้วยญาณคติ)


ภเว (พึงเป็น) √ภู++เอยฺย ภูวาทิ. กัตตุ.


--


อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้


บัณฑิตพึงทำใบลานเป็นต้น ให้เป็นเหมือนนา

ทำเหล็กจานให้เป็นไถทั้งคู่ ทำอักษรให้เป็นข้าว

ปลูก แล้วพึงประพฤติอยู่เทอญ.


--


อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..


บัณฑิตพึงทำใบลานเป็นต้นให้เป็นเหมือนนา

ทำเหล็กจานให้เป็นไถทั้งคู่

ทำอักษรให้เป็นข้าวปลูก

แล้วพึงประพฤติอยู่เถิด.


--


 

Keine Kommentare: