๖๓. ทรัพย์ของคนดีกับคนชั่วต่างกันอย่างไร?
ธนมปฺปมฺปิ สาธูนํ, กูเป วาริว นิสฺสโย;
พหุํ อปิ อสาธูนํ, น จ วารีว อณฺณเวฯ
„ทรัพย์ของคนดี เหมือนน้ำในบ่อ
แม้จะน้อยก็ใช้สอยอาศัยได้,
ส่วนทรัพย์ของคนชั่วเหมือนน้ำในทะเล
แม้มีมากมาย ก็ใช้สอยอาศัยไม่ได้เลย.“
(โลกนีติ หมวดคนดี คาถาที่ ๖๓, มหารหนีติ ๘๗, ธัมมนีติ ๓๔๕, กวิทัปปณีติ ๑๙๕)
..
ศัพท์น่ารู้ :
ธนมปฺปมฺปิ ตัดบทเป็น ธน+อปฺปํ+อปิ, ธน (ทรัพย์) + อปฺปํ (น้อย, นิดหน่อย) , อปิ (แม้, ถึงแม้) เป็นอุปสัค
สาธูนํ: (ของคนดี, สาธุชน ท.) สาธุ+นํ, บาทคาถานี้ ในธัมมนีติ เป็น อปฺปมฺปิ สาธูนํ ธนํ. ในมหารหนีติ เป็น ทพฺพมปฺปํปิ สาธูนํ. ส่วนกวิทัปปณนีติเหมือนกันกับโลกนีติ.
กูเป: (ในบ่อน้ำ, หลุมลึก) กูป+สฺมึ
วาริว: ตัดบทเป็น วาริ+อิว (เหมือนน้ำ), วาริ (น้ำ, วารี) วาริ+สิ, ศัพท์ว่า วาริ มาจาก วร ธาตุ -นิเสเธ ในอรรถว่าห้าม กั้น ปฏเสธ +ณิ ปัจจัย (วร-นิเสเธ+ณิ)
วิเคราะห์ว่า: วารยติ นินฺโนนตนฺติ วาริ, วารยติ ปิปาสนฺติ วา วาริ.
(แปลว่า: นำ้ ชื่อว่า วาริ เพราะอรรถว่า (ไหล) ไปสู่ที่ลุ่มและที่ดอน ,
อีกอย่างหนึ่ง นำ้ ชื่อว่า วาริ เพราะอรรถว่า ห้ามความ(หิว) กระหายได้)
(จาก อภิธาน. ฏีกา). ส่วน อิว แปลว่า ดุจ, เหมือน, ราวกะ เป็นนิบาตบอกอุปมา
นิสฺสโย: (ที่อาศัย, เครืองอาศัย, นิสสัย) นิสฺสย+สิ
พหุํอปิ: (แม้มาก) ตัดบทเป็น พหุํ (มาก, เยอะ) + อปิ (แม้, ถึงแม้) เป็นอุปสัค บางแห่งเขียนแยกกันก็มี ในที่นี้จัดเป็นปกติสนธิก็พอได้ เพื่อรักษาฉันท์
อสาธูนํ: (ของพาล, อสาธุชน ท.) น+สาธุ > อสาธุ+นํ
น: (ไม่, หามิได้) เป็นนิบาตบอกปฏิเสธ
จ: (ด้วย, และ, ส่วน) เป็นนิบาต
วารีว: (ดุจน้ำ, เหมือนน้ำ) ตัดบทเป็น วาริ+อิว
อณฺณเว: (ในอรรณพ, ในทะเล) อณฺณว+สฺมึ
..
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen