๒๒. ความดีย่อมไปสู่คนดี
คุโณ เสฎฺฐงฺคตํ ยาติ, น อุจฺเจ สยเน วเส;
ปาสาทสีขเร วาโส, กาโก กึ ครุโฬ สิยา.
ความดี ย่อมถึงคนผู้มีคุณอันประเสริฐ,
เขาพึงอยู่ในที่นอนอันสูง หามิได้
กาถึงอยู่บนยอดแห่งปราสาท
พึงกลายเป็นครุฑได้อย่างไร.
(ธรรมนีติ สิปปกถา ๒๑, กวิทัปปณนีติ ๑๓๔)
--
ศัพท์น่ารู้ :
คุโณ (คุณ, ความดี, อานิสงส์) คุณ+สิ
เสฎฺฐงฺคตํ (ผู้มีคุณอันประเสริฐ) เสฏฺฐ+องฺคต, (หรือ : เสฏฺฐ+คต) > เสฏฺฐงฺคต+อํ
ยาติ (ไป, ก้าวไป, ถึง) √ยา+อ+ติ, ภูวาทิ. กัตตุ.
น (ไม่, หามิได้) นิบาตบอกปฏิเสธ
อุจฺเจ (สูง) อุจฺจ+สฺมึ
สยเน (ที่นอน) สยน+สฺมึ
วเส (พึงอยู่) √วส+อ+เอยฺย, ภูวาทิ. กัตตุ.
ปาสาทสิขเร (ยอดแห่งปราสาท) ปาสาท+สิขร > ปาสาทสิขร+สฺมึ
วาโส (การอยู่, ที่อยู่, เครื่องนุ่งห่ม, เครื่องหอม, น้ำหอม, ผ้า) วาส+สิ
กาโก (กา, นกกา) กาก+สิ
กึ (หรือ, อย่างไร)
ครุโฬ (ครุฑ, นกกระไน, นกหัวขวาน) ครุฬ+สิ
สิยา (พึงเป็น) √อส+อ+เอยฺย, ภูวาทิ. กัตตุ. ลบอักษรต้นของ อส ธาตุได้บ้าง ด้วยสูตรว่า สพฺพตฺถาสสฺสาทิโลโป จ. (รู ๔๙๖) = ส+อ+เอยฺย, แปลง เอยฺย เป็น อิยา ด้วยมหาสูตรว่า กฺวจิ ธาตุ ฯ. (รู ๔๘๘) = ส+อ+อิยา, แยก ลบ รวมสำเร็จรูปเป็น สิยา
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
คนพึ่งจะมีความดี แรกขยิบถึงองค์คุณอันประเสริฐ
ยังไม่ควรจะอยู่บนที่นอนอันสูงเกินศักดิ์
กาก์อยู่บนยอดปราสาทจะเป็นครุฑทีเดียวหรือ.
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้...
คนเพิ่งจะแรกมีดี ขยับขึ้นถึงคุณอันประเสริฐ
ยังไม่ควรจะอยู่ในตำแหน่งอันสูงศักดิ์
กาอยู่บนยอดปราสาท จะเป็นครุฑไปได้อย่างไร.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen