๒๖. คนกับโคต่างกันอย่างไร
โภชนํ เมถุนํ นิทฺทา, คเว โปเส จ วิชฺชติ;
วิชฺชา วิเสโส โปสสฺส, ตํหีโน โคสโม ภเว.
การกิน การร่วมสังวาส การนอน
มีอยู่ในโคและมนุษย์เหมือนกัน
แต่วิชาความรู้เป็นสิ่งพิเศษสำหรับคน
คนที่ไร้วิชาความรู้ก็ไม่ต่างอะไรกับโค.
(ธรรมนีติ สิปปกถา ๒๖, โลกนีติ ๒๒, มหารหนีติ ๑๑๘)
--
ศัพท์น่ารู้ :
โภชนํ (การกิน, การบริโภค) โภชน+สิ นป.
เมถุนํ (เมถุน, กรรมของคนคู่, การเสพสังวาส) เมถุน+สิ นป.
นิทฺทา (การนอน, การหลับ) นิทฺทา+สิ อิต.
คเว (ในโค, วัว) โค+สฺมึ, แปลง โอ เป็น อว ด้วย จ ศัพท์ § อวํมฺหิ จ. (รู ๑๗๐)
โปเส (บุรุษ, คน, มนุษย์) โปส+สฺมึ
จ (ด้วย, และ) นิบาตในอรรถสมุจจยะ (รวบรวบ)
วิชฺชติ (มีอยู่) √วิท+ย+ติ ทิวาทิ. กัตตุ.
วิชฺชา (วิชา, วิทยา, ความรู้) วิชฺชา+สิ
วิเสโส (วิเสส, พิเศษ, แตกต่าง) วิเสส+สิ
โปสสฺส (สำหรับชาย, แก่บุรุษ, คน) โปส+ส
ตํหีโน (ผู้เลวด้วยวิชานั้น, ผู้ทรามด้วยวิทยานั้น) ต+หีน > ตํหีน+สิ, วิ. ตาย หีโน ตํหีโน. (ตํหีนะ คือผู้เลวด้วยวิชานั้น)
โคสโม (ผู้เสมอด้วยโค) โค+สม > โคสม+สิ, วิ. โคเณน สโม โคสโม. (โคสมะ คือผู้เสมอด้วยโค)
ภเว (พึงเป็น) √ภู+อ+เอยฺย ภูวาทิ. กัตตุ.
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
การกิน เมถุน นอน ในโคและบุรุษเหมือนกัน
แต่วิชาเป็นพิเศษสำหรับบุรุษ คนไร้วิชาก็เสมอกับโค.
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้...
การกิน การนอน และเมถุน
ในโคกับคน มีเหมือนกัน
แต่วิทยาคุณมีพิเศษในคน
คนไร้วิทยาคุณก็เท่ากับโค.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen