๒๙. เมื่อบัณฑิตเห็นภัย
อนาคตํ ภยํ ทิสฺวา, ทูรโต ปริวชฺชเย;
อาคตญฺจ ภยํ ทิสฺวา, อภีโต โหติ ปณฺฑิโต.
ผู้มีปัญญา เห็นภัยที่ยังมาไม่ถึง
ย่อมหลีกเว้นได้แต่ที่ไกล,
แต่ครั้นเห็นภัยที่มาถึงแล้ว
ย่อมเป็นผู้ไม่สะดุ้งกลัว.
(ธรรมนีติ ปัญญากถา ๒๙, โลกนีติ ๑๔๒, กวิทัปปณนีติ ๑๓๕)
--
ศัพท์น่ารู้ :
อนาคตํ (อนาคต, ที่ยังมาไม่ถึง) น+อาคต > อนาคต+อํ
ภยํ (ภัย, ความกลัว) ภย+อํ
ทิสฺวา (เห็นแล้ว, เพราะเหตุ) √ทิส+ตฺวา+สิ, ลง ตฺวา ปัจจัย ด้วยสูตรว่า “ปุพฺพกาเลกตฺตุกานํ ตุน-ตฺวาน-ตฺวา วา.“ (รู ๖๔๐) = √ทิส+ตฺวา, แปลง ตฺวา เป็น สฺวาน, สฺวา และลบที่สุดธาตุ ด้วยสูตรว่า “ทิสา สฺวานสฺวานฺตโลโป จ. (รู ๖๔๔) = ทิ+สฺวา, ลง สิ วิภัตติ ด้วยสูตรว่า “สิ โย, อํ โย, ฯ. (รู ๖๓) = ทิ+สฺวา+สิ, ลบ สิ ด้วยสูตรว่า สพฺพาสมาวุโสปสคฺคนิปาตาทีหิ จ. (รู ๒๘๒) ทิ+สฺวา, รวมสำเร็จรูป = ทิสฺวา
ทูรโต (แต่ที่ไกล) ทูร+โต, ลง โต ปัจจัยในอรรถปัญจมีวิภัตติได้บ้าง § กฺวจิ โต ปญฺจมฺยตฺเถ. (รู ๒๖๐)
ปริวชฺชเย (เว้นรอบ) ปริ+√วชฺช+ณย+เอยฺย จุราทิ. กัตตุ.
อาคตญฺจ ตัดบทเป็น อาคตํ+จ (ที่มาแล้วด้วย, และปัจจุบันด้วย) อา+คมุ+ต > อาคต+อํ
อภิโต, อภีโต (ผู้ไม่กลัว, ไม่สะดุ้ง) น+ภีต > อภีต+สิ
โหติ (ย่อมเป็น) √หู+อ+ติ ภูวาทิ. กัตตุ.
ปณฺฑิโต (บัณฑิต, ผู้ฉลาด) ปณฺฑิต+สิ
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
เห็นภัยที่ยังไม่มาถึง
พึงหลีกเลื่ยงแต่ไกล
แต่ครั้นประสพภัยที่มาถึงเข้า
บัณฑิตย่อมไม่หวาดหวั่น.
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้...
บัณฑิตเมื่อเห็นภัยที่ยังมาไม่ถึง
ย่อมหลีกให้ไกล
แต่เมื่อประสบภัยเฉพาะหน้า
ก็ตั้งท่าสู้โดยไม่เกรงกลัวแต่อย่างใดเลย.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen