๒๕๓. รู้ได้โดยประมาณ
ชลปฺปมาณํ กุมุทนาฬํ, กุลปฺปมาณํ กรณกมฺมํ;
ปญฺญาปมาณํ กถิตวากฺยํ, ภูมิปฺปมาณํ ภชฺชลติณํ.
ก้านบัวใช้หยั่งรู้น้ำลึก,
ความประพฤติบอกสกุลวงศ์
คำพูดจาบอกความฉลาด,
หญ้าแห้งเหี่ยวบอกคุณภาพพื้นดิน.
(ธรรมนีติ ญาตัพพกถา ๒๕๓, กวิทัปปณนีติ ๘๕, โลกนีติ ๑๔)
--
ศัพท์น่ารู้ :
ชลปฺปมาณํ (ประมาณแห่งนำ้, มีน้ำเป็นประมาณ) ชล+ปมาณ > ชลปฺปมาณ+สิ, วิ. ชลสฺส ปมาณํ = ชลปฺปมาณํ. (ประมาณแห่งน้ำ ชือว่า ชลัปปมาณะ) เป็นฉัฏฐีตัปปุริสสมาส
กุมุทนาฬํ (ก้านบัวขาว, ลำต้นบัว) กุมุท (บัวขาว) + นาฬ (ลำต้น, ก้าน, หลอด, ท่อ, กล้อง) > กุมุทนาฬ+สิ
กุลปฺปมาณํ (ประมาณแห่งสกุล, มีตระกูลเป็นประมาณ) กุล+ปมาณ > กุลปฺปมาณ+สิ
กรณกมฺมํ (กรรมคือการกระทำ) กรณ+กมฺม > กรณกมฺม+สิ
ปญฺญาปมาณํ (ประมาณแห่งปัญญา, มีปัญญาเป็นประมาณ) ปญฺญา+ปมาณ > ปญฺญาปมาณ+สิ
กถิตวากฺยํ (คำพูดที่สนทนา, ประโยคที่กล่าวแล้ว, คำพูดที่เปล่ง) กถิต+วากฺย > กถิตวากฺย+สิ
ภูมิปฺปมาณํ (ประมาณแห่งดิน, มีดินเป็นประมาณ) ปถวี+ส
ปมาณํ (ประมาณ, เครื่องวัด, ขอบเขต, มาตรฐาน, เหตุ) ปมาณ+สิ
ภชฺชลติณ (หญ้าที่เหี่ยวแห้ง ?) ภชฺชล+ติณ > ภชฺชลติณ+สิ
--
ส่วนในโลกนีติและธัมมนีติ มีข้อความเหมือนกัน มีหลายศัพท์ที่ต่างจากธัมมนีติ, พร้อมกันนี้ได้นำคำแปลและคำโคลงอันไพเราะจากโลกนีติไตรพากย์ (พากย์โลกนีติ) มาแสดงเทียบเคียงไว้ด้วย เพื่อความเป็นพหูสูตรต่อไป ดังนี้
ชลปฺปมาณํ กุมุทฺทนาลํ,
กุลปฺปมาณํ วินโยปมาณํ;
พฺยตฺติปฺปมาณํ กถิตวากฺยํ,
ปถวิยา ปมาณํ ติณมิลาตํ
@ สายบัว เป็นเครื่องวัดน้ำ
มารยาทและวาจา เป็นเครื่องวัดสกุล
คารมซึ่งสำแดง เป็นเครื่องวัดปัญญา
ความเหี่ยวแห้งแห่งหญ้า เป็นเครื่องวัดพื้นดิน.
ก้านบัวบอกลึกตื้น--—ชลธาร
มารยาทส่อสันดาน--—ชาติเชื้อ
โฉดฉลาดเพราะคำขาน--ควรทราบ
หย่อมหญ้าเหี่ยวแห้งเรื้อ--บอกร้ายแสลงดิน.
--
อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้
สายบัวเป็นเครื่องวัดน้ำ กิจการที่ทำเป็นเครื่องวัดสกุล
คารมที่พูดเป็นเครื่องวัดปัญญา ความเหี่ยวแห้ง
แห่งหญ้าเป็นเครื่องวัดพื้นดิน.
--
อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..
สายบัวบอกวัดน้ำ
ธุรกิจที่ทำวัดตระกูล
คำที่สนทนาวัดสติปัญญา
หญ้าเหี่ยวแห้งวัดพื้นดิน.
--
Keine Kommentare:
Kommentar veröffentlichen