Mittwoch, 13. September 2023

๒๙๓. ผู้ควรอยู่วัง

๒๙๓. ผู้ควรอยู่วัง


อนุทฺธโต อจปโล, นิปโก สํวุตินฺทฺริโย;

มโนปณิธิสมฺปนฺโน, ราชวสตึ วเส.


ข้าเฝ้าผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กลับกลอก

มีปัญญารักษาตน สำรวมอินทรีย์

ถึงพร้อมด้วยการตั้งใจมั่น

จึงควรอยู่ในราชสำนักได้.


(ธรรมนีติ ๒๙๓ ราชเสวกกถา, ขุ. ชา ๒๘/๙๖๒ วิธุรชาดก)


--


ศัพท์น่ารู้ :


อนุทฺธโต (ผู้ไม่ฟุ้งซ่าน) +อุทฺธต > อนุทฺธต+สิ

อจปโล (ผู้ไม่คนอง, -กลับกลอก, -รวนเร) +จปล > อจปล+สิ

นิปโก (ผู้มีปัญญา, คนฉลาด, คนเฉียบแหลม) นิปก+สิ

สํวุตินฺทฺริโย (มีอินทรีย์สำรวมแล้ว, สำรวมอินทรีย์) สํวุต+อินฺทฺริย > สํวุตินฺทฺริย+สิ

มโนปณิธิสมฺปนฺโน (ผู้ถึงพร้อมด้วยการตั้งใจ, มีความตั้งใจหนักแน่น) มน+ปณิธิ > มโนปณิธิ+สมฺปนฺน > มโนปณิธิสมฺปนฺน+สิ

ราชวสตึ วเส (เขาพึงอยู่ในราชสำนักได้)


--


อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ (พากย์ธัมมนีติ) ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้


สูเจ้าเป็นผู้ไม่ทนง ไม่เป็นคนปอกลอก มีปรีชา

ถี่ถ้วน สำรวมอินทรีย์ มีความตั้งใจหนักแน่น

จึ่งอยู่สำนักร่วมกับพระราชา.


--


อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้..


ราชเสวก ต้องไม่คิดฟุ้งสร้านแสดงอาการเย่อหยิ่ง

ไม่คะนองการคะนองวาจาให้เสียจริยาของข้าเฝ้า

รู้จักรักษาตนไม่ให้เป็นคนเสียหายเพราะเหตุนั้น

ระมัดระวังอินทรีย์ มิให้เกิดราคีได้ พร้อมทั้งอัธยาศัยจิตใจ

ก็เป็นสุจริตธรรม ไม่คิดพล่าน.


--


 

Keine Kommentare: